ประเทศไทยมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย 1 เครื่อง ชื่อ “ปปว-1/1” ตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ซึ่งอยู่ภายในรั้วเดียวกันกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และติดกับรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เครื่อง ปปว-1/1 (TRR-1/M1) หรือเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย-1 ปรับปรุงครั้งที่ 1 (Thai Research Reactor-1/Modification 1) เป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องเดียวของไทย ปรับปรุงมาจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย-1 (ปปว-1) ซึ่งมีการเดินเครื่องเข้าสู่สภาวะวิกฤตเป็นครั้งแรกเมื่อ 27 ต.ค.2505 และในเดือน พ.ย.2520 ได้เปลี่ยนแปลงแกนเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน
ลักษณะทั่วไปของ เครื่อง ปปว-1/1 เป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยขนาดกำลังสม่ำเสมอ 2 เมกะวัตต์ สร้างขึ้นโดย บริษัท เจเนอรัลอะตอมิกส์ จากสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า TRIGA Mark III ตัวเครื่องอยู่ภายในบ่อปฏิกรณ์ที่มีน้ำหล่อเย็นอยู่ภายในอาคารเครื่องปฏิกรณ์ โดยเครื่องปฏิกรณ์ผลิตนิวตรอนจากต้นกำเนิดที่เป็นธาตุอเมริเซียม-เบริลเลียม (Am-Be) ที่มีความแรงรังสี 3 คูรี
การใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ ปปว-1/1 จะมุ่งใช้ประโยชน์จากนิวตรอนที่ได้ ส่วนความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกระบายออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์โดยวิธีธรรมชาติ คือ ใช้น้ำระบายความร้อนแล้วดูดออกด้วยเครื่องสูบน้ำผ่านตัวแลกความร้อร และระบายออกสู่บรรยากาศด้วยหอระบายความร้อน ซึ่งทำงานในลักษณะตรงข้ามเครื่องปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมุ่งนำความร้อนไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้นิวตรอนจากเครื่องปฏิกรณ์ ปปว-1/1 เช่น ใช้วิเคราะห์ธาตุด้วยเทคนิคทางนิวเคลียร์ ผลิตไอโซโทปทางการแพทย์และการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพอัญมณีโดยการอาบรังสีนิวตรอน รวมถึงงานด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ อาทิ การถ่ายภาพด้วยนิวตรอนเพื่อการตรวจสอบวัสดุแบบไม่ทำลาย เป็นต้น
ทางด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. ให้ข้อมูลว่า สทน. จะผลักดันให้เกิดโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องเดิมคือเครื่องปฏิกรณ์ ปปว-1/1 ที่มีขนาด 2 เมกะวัตต์ และมีอายุกว่า 50 ปี ซึ่งอีกไม่เกิน 5 ปี เครื่องปฏิกรณ์เครื่องเก่าจะปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีการผลิตแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้กับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องเก่าแล้ว
“หากเครื่องปฏิกรณ์เครื่องนี้หยุดเดินเครื่อง ผลเสียที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัด คือ ในเชิงการผลิตประเทศไทยต้องนำเข้าเภสัชรังสีสำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปีละกว่า 300 ล้านบาท ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะขาดโอกาสในการรักษาด้วยยาที่มีราคาถูก รวมถึงการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีมูลค่าในตลาดกว่า 100 ล้านบาท และในโอกาสในงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย” ดร.สมพร กล่าว โดยเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่นั้นจะเป็นเครื่องที่มีขนาด 10-20 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่
เรียบเรียงจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ “เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยในประเทศไทย” โดย สทน.