xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันโพสต์รายงาน “กุ้งไทยในจานของผู้บริโภคอเมริกันปนเปื้อนค้ามนุษย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – สื่อสหรัฐฯ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวานนี้(21)ว่า สินค้าอาหารทะเลที่มีแหล่งผลิตจากไทยล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ที่ทำให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้ขึ้นแบล็กลิตส์ไทยติดกลุ่มที่แย่ที่สุดเทียบเคียงกับเกาหลีเหนือ และอิหร่าน โดยสื่อบิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งไทยในตลาดโลกมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์มีฐานการผลิตจากแรงงานทาสต่างด้าว

รายงานประจำปีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯที่เผยแพร่ในวันศุกร์(20)นั้นเป็นความพยายามที่จะกำจัดเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่เรื้อรังและความพยายามของภาครัฐที่จะหยุดอาชญากรรมนี้

ไทยถือเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในอาชญากรรมการค้ามนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งชาย หญิง และ เด็ก ที่ในขณะนี้ที่หลายหมื่นคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากต่างด้าวทั้งหมดมีอยู่ร่วม 2-3 ล้านคน บางส่วนอยู่ในอาชีพการค้าประเวณี มีเป็นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อแรงงานทาส อีกหลายส่วนถูกส่งไปโรงงานทอผ้าและการตัดเย็บ และล่าสุดพบมากอยู่ในอุตสากรรมการประมงไทย และที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประมง

จากรายงานประจำปีร่วม 423 หน้าพบว่า แรงงานจากกัมพูชา พม่า และไทย ถูกบังคับให้ใช้แรงบนเรือประมงในน่านน้ำเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไกลออกไป และแรงงานเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานไม่ต่ำกว่า 18-20 ต่อวัน ใน 7 วันต่อสัปดาห์ ในค่าจ้างที่ต่ำมากและต้องลงโทษโดยการถูกโบย รายงานกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้อ้างการสำรวจความคิดเห็น 2 แหล่ง และพบว่า คนงานชาวประมงราว 17% - 57% ได้รับการปฎิบัติเช่นนี้

และนอกจากนี้วอชิงตันโพสต์ยังรายงานว่า รายงานประจำปีนี้ถูกจัดทำพื้นฐานการเปิดเผยรายงานของรอยเตอร์ สถาบันความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) และหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวว่า ทั้งข้าราชการไทย ทหาร และตำรวจต่างได้ผลประโยชน์จากการลักลอบขนกลุ่มมุสลิมโรฮิงยาเข้าประเทศ โดยกักพวกเขาไว้ที่สถานกักตัว และหลังจากนั้นขายชนกลุ่มน้อยที่หนีจากการกดขี่ในพม่าและบังกลาเทศให้กับนายหน้าและเจ้าของเรือประมง

การที่ไทยถูกขึ้นบัญชีดำจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3ซึ่งถือว่ามีการละเมิดการค้ามนุษย์มากที่สุดตามกฏหมายสหรัฐฯในวันศุกร์(20) เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการออกมาตรการน้อยมากที่จะจัดการปัญหานี้

และการถูกขึ้นบัญชีดำของไทยครั้งนี้ควรส่งผลต่อการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทยที่ทางสื่อสหรัฐฯให้ความเห็นว่า บรรดาบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เช่น คอสโก วอลมาต์ คาร์ฟูร์ และเทสโก ควรจะเปลี่ยนธุรกิจโมเดลเสียใหม่โดยการไม่สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ที่เห็นได้ชัดว่าขายสินค้าที่มีการผลิตมาจากแรงงานทาส

และควรร่วมกดดันรัฐบาลไทยให้ทำการจับกุมผู้ที่ทรมานแรงงานเหล่านี้เพื่อนำมาดำเนินคดีต่อไปเพื่อทำให้มั่นใจว่าเหยื่อค้ามนุษย์ได้รับการปกป้องและถูกปฎิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

วอชิงตันโพสต์ยังชี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯใช้มาตรการยกเลิกความช่วยเหลือต่างๆเพื่อกดดันรัฐบาลไทย และทั้งเห็นควรให้ผู้บริโภคต่างแดนร่วมกันคว่ำบาตรสินค้าอาหารทะเลของไทยอีกด้วย

ด้านบิสซิเนสอินไซเดอร์ในวันที่ 18 มิถุนายนได้เปิดเผยมูลค่าสัดส่วนอาหารทะเลส่งออกของไทยในตลาดโลกมีถึง 7 พันล้านดอลลาร์ และไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลใหญ่เป็นอันดับ2 ในตลาดสหรัฐฯจากความนิยมของชาวอเมริกันที่ชอบนิยมบริโภคอาหารทะเลราคาถูก

นอกจากนี้บิสซิเนสอินไซดเดอร์ยังอธิบายถึงต้นตอที่อยู่เบื้องหลังตัวเลข 7 พันล้านดอลลาร์ คือ Trash fish หรือเศษปลา ปลาเรือ หรือปลาตัวเล็กที่ติดมาตามอวนประมง โดยเศษปลานี้ถูกนำไปผลิตเป็นปลาป่น( fish meal) และอาหารสัตว์เลี้ยงต่างๆ รวมถึงอาหารแปรรูปราคาถูก โดยความเชื่ยมโยงแรงงานทาสและเศษปลาที่ติดมากกับอวนขนาดใหญ่ของเรือประมงนั้นเห็นได้ชัด

“มีความต้องการที่จะกดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และในความคิดพ่อค้าบางคนถือเป็นความชอบธรรมที่จะใช้แรงงานทาส ซึ่งการประมงนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุม” สตีฟ เทรนต์ (Steve Trent) ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) เปิดเผย และให้ความเห็นต่อว่า บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่จำนวนมากไม่มีการตรวจสอบเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่ซับซ้อนอย่างรัดกุม ส่งผลให้มีสินค้าอาหารทะเลปนเปื้อนแรงงานทาสหลุดเข้ามา

“พวกเขาต่างอ้างว่าไม่รู้ หรือแกล้งทำเป็นมองไปทางอื่น แต่ในขณะนี้ที่มีการเปิดเผยถึงการใช้แรงงานทาสในการผลิตเศษปลา และคุณไม่สามารถแน่ใจว่าจะไม่มีสินค้าในร้านที่ไม่มีแรงงานทาสเกี่ยวข้อง” เทรนต์กล่าวต่อ

นอกจากนี้บิซิเนสอินไซดเดอร์ได้ให้รายชื่อผลิตภัณฑ์จากไทยที่ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

กุ้งแช่แข็ง: บ.ซีพีฟูดส์ เป็นบริษัทซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของโลกส่งออกกุ้งแช่แข็งไปตามห้างค้าปลีกชั้นนำในสหรัฐฯ และยุโรป เช่น เทสโก คาฟูร์ วอลมาร์ต และคอสโก และมีแค่คาร์ฟูร์เท่านั้นในเวลานี้ที่ประกาศระงับการสั่งซื้อจากซีพีฟูดส์ อย่างไรก็ตามสื่ออังกฤษ เดอะการ์เดียน รายงานล่าสุดว่า บริษัทซีพีได้ออกแถลงการณ์ประนามการค้ามนุษย์ และแรงงานทาส

อาหารสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว: ปลาเล็กมีส่วนในส่วนผสมของการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ ยังไม่มีรายงานยืนยันว่าเศษปลาข้องเกี่ยวกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพทโชว์ของสหรัฐฯ แต่ทว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ผ่านเครือข่ายซัพพลายเชนส่งวัตถุดิบในการผลิตอาหารสุนัขและแมว พบว่าในปีล่าสุดอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยมูลค่า171ล้านดอลลาร์นำเข้าตลาดสหรัฐฯ รายงานจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทั้งนี้ไทยเป็นยักษ์ใหญ่ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทอาหารเปียกไปยังสหรัฐฯ

น้ำปลา : น้ำปลาที่มีส่วนผสมจากปลาเล็กปลาน้อยเป็นหลักในการผลิต พบว่าน้ำปลาไทยในตลาดสหรัฐฯมีส่วนแบ่ง 85% อ้างอิงจากสถิติจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยชาวสหรัฐฯบริโภคน้ำปลาไทยราว 35ล้าน ปอนด์ ซึ่งจำนวนนี้หมายความว่า ทั้งชาย หญิง และเด็กในอเมริกาแต่ละคนบริโภคน้ำปลาไทยราว 2 ออนซ์

น้ำมันปลาแบบเม็ด : พบว่าบางครั้งน้ำมันปลานั้นผลิตมาจากเศษปลา ปลาแมคเคอเรลและปลาซาร์ดีนถือเป็นปลาหลักในการผลิตซึ่งถูกจับมากในอุตสาหกรรมประมงไทยที่ใช้แรงงานทาส

และเทรนต์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมไม่คิดว่าผู้บริโภคชาวตะวันตกต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากแรงงานทาสเหล่านี้” โดยพบว่าผู้อ่านชาวอังกฤษและสหรัฐฯต่างประนามการค้ามนุษย์ และตั้งใจจะร่วมบอยคอตสินค้าอาหารทะเลไทยหลังจากอ่านรายงานการค้ามนุษย์ในอุตสากรรมประมงไทยของสื่อเดอะการ์เดียน
กำลังโหลดความคิดเห็น