xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คสช.เสียรังวัด “ต่างด้าว” ทำเดี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนางอีท โซฟี เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาหารือและชี้แจงนโยบายเรื่องแรงงานต่างด้าวของประเทศ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เจอเหลี่ยมเขมรเล่นแรง หรือลูกน้องเก่าของ “เป็ดเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรมว.กระทรวงแรงงาน วางยา หรือว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความคิดล้าหลังย้อนยุคสงครามเย็นจึงออกคำสั่งมาจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วยสายตาที่มองว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ ก็สุดจะคาดเดา แต่ผลที่ตามมาคือ สภาวะโกลาหลปั่นป่วน อึงคะนึงไปด้วยข่าวลือที่ไปไกลถึงขั้นว่าจะมีสงครามไล่ล่าแรงงานเขมร แม้ว่าภายหลังคสช.จะออกคำสั่งใหม่หวังมาดับข่าวลือที่ลุกลามบานปลายเหมือนไฟลามทุ่งแล้วก็ตาม

อันที่จริง มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนมากมายที่รอให้คสช.เข้าไปจัดการชำระสะสางและเก็บแต้มได้ใจประชาชน แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ คสช.จึงเลือกหยิบเอาปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มีความซับซ้อนอ่อนไหวสูงขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ และหน่วยปฏิบัติที่รับคำสั่งก็ทำงานตามความเคยชิน กวาดจับ คุมขัง ส่งกลับ เมื่อบวกกับมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอชายแต่งกายคล้ายตำรวจไล่ยิงรถขนแรงงานต่างด้าวเขมรจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ก็ยิ่งตอกย้ำข่าวร่ำลือจนแรงงานชาวเขมรพากันหนีกลับประเทศชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากไม่นับเหตุการณ์เขมรอพยพหนีสงครามกลางเมืองเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

ต้นตอของเรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้นมาจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 59/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และตามมาด้วยคำสั่งคสช.ฉบับที่ 60/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

บวกกับโรดแมปและคำแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา เรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนเพื่อสร้างงานในเขตพื้นที่ชนบทเพราะไม่เช่นนั้นคนก็จะเข้ามา กรุงเทพฯและเมืองใหญ่จะแออัด มีการทำผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว ลักขโมย เป็นปัญหาด้านความมั่นคงในระยะสั้นและระยะยาว

นั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้ถูกตีความได้ว่า แรงงานต่างด้าวเป็นสาเหตุหนึ่งในปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ ข่าวลือจึงกระพือว่าทหารจะไล่ล่ากวาดล้าง ซึ่งเป็นน่าสังเกตว่า ทำไมถึงแตกตื่นกันเฉพาะกลุ่มแรงงานเขมร ขณะที่พม่าซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดกลับไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับแรงงานชาวลาวที่ไม่ได้หนีกลับประเทศแต่อย่างใด ทั้งที่แรงงานพม่าและลาวก็ใช่ว่าเข้ามาแบบถูกกฎหมายไปเสียทั้งหมด

อาจเป็นได้ว่า เหตุที่กลุ่มแรงงานเขมรตกเป็นเป้าข่าวลือว่าทหารจะกวาดล้างนั้น เพราะมีข่าวร่ำลือก่อนหน้านี้ว่า มีกองกำลังต่างชาติชาวเขมรติดอาวุธเข้ามาซ่องสุมสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไทย โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่หนีคดีอาญาอยู่เบื้องหลัง การกวาดล้างเพื่อจัดระเบียบใหม่แรงงานต่างด้าวชาวเขมรก็เพื่อสลายให้กองกำลังติดอาวุธไปในตัว ไม่นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในระยะหลังค่อนข้างง่อนแง่นตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเรื่อยมาจนถึงกระแสข่าวที่จะมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กัมพูชา จนกระทั่งสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการอนุญาตให้พรรคเพื่อไทยใช้กัมพูชาเป็นฐานจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ คสช. ที่มุ่งหมายว่าจะจัดการกับปัญหาเรื้อรังนี้ให้ “ เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” เป็นการมโนแบบด่วนได้ใจเร็วแท้ๆ เพราะเพียงสองสัปดาห์ก็พิสูจน์แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเหมือนกับการใช้อำนาจกู้เงินมาจ่ายหนี้จำนำข้าวให้ชาวนา

ความจริงเบื้องต้นที่สุดของเรื่องแรงงานต่างด้าวที่คนไทยทั้งชาติต้องยอมรับกันก็คือเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ด้วยการอาศัยแรงงานต่างด้าวราคาถูก เป็นแรงงานระดับล่างในงานที่คนไทยไม่ทำ และแรงงานต่างด้าวที่จ้างกันในราคาถูกนั้นเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเกินกว่าครึ่ง เอาเฉพาะแรงงานต่างด้าวชาวเขมร ที่ประเมินกันว่ามีอยู่ประมาณ 2 แสนคน มีขึ้นทะเบียนถูกต้องเพียงแค่ 8 หมื่นกว่าคน ที่เหลือล้วนแต่ลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องทั้งสิ้น

แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นความผิดของใคร? เป็นความผิดของแรงงานที่เข้ามาเสี่ยงโชคหางานทำในประเทศไทยซึ่งดึงดูดด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นใช่หรือไม่ แน่นอนย่อมไม่ใช่ นายจ้าง ผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยต่างก็ต้องการแรงงานต่างชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และมีไม่น้อยที่ต้องการจ้างแรงงานผิดกฎหมายมากกว่า เพราะสามารถจ้างได้ราคาถูกกว่าแม้จะเสียค่าเบี้ยบ้ายรายทางให้กับเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าคุ้ม

แรงงานต่างด้าวนั้น เป็นเพียงแค่ “เหยื่อ” เมื่อจะมีการตีปี๊บจัดระเบียบทุกครั้งก็มีการไล่กวาดจับแรงงานเถื่อนเหล่านี้เพื่อสร้างผลงาน หรือเลวร้ายไปกว่านั้นการกวาดจับ จัดระเบียบ เพื่อเคาะกะลาเรียกมาจ่ายส่วยกับนายคนใหม่ ขณะที่กลไกสำคัญที่สุดในขบวนค้าแรงงานเถื่อนเหล่านี้ คือ “นายหน้า” ซึ่งมีบรรดาคนมีสี มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังคอยเอื้ออำนวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกันกลับอยู่สุขสบายดี เช่นเดียวกับนายจ้างที่จ้างแรงานเถื่อนราคาต่ำก็น้อยนักที่จะถูกดำเนินคดี

คราวนี้ก็เช่นกัน หลังจาก คสช. ออกคำสั่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทางกองทัพภาคที่ 2 โดย พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ รองเสนาธิการกองภัพภาคที่ 2 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย นายประภาส รักษาทรัพย์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา และ พ.ต.อ.ธนวัฒน์ ภัคคะธนิตศักดิ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 5 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 3 ในฐานะรองโฆษก ตำรวจภูธรภาค 3 ได้ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ 2 ต่อสื่อมวลชน โชว์ผลการปฏิบัติงานในการปราบปรามแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองช่วงวันที่ 1-15 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้มีการจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรวม 6,441 คน แบ่งเป็นชาวกัมพูชา 6,256 คน และชาว สปป.ลาว 185 ราย พร้อมกับปฏิเสธข่าวที่ว่ามีทหารเข้าไปจับแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายในสถานประกอบการและจับขึ้นรถส่งไปค่ายทหารทัพภาค 2 เพื่อส่งกลับ

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือดังกล่าว แรงงานที่ถูกกฎหมายยังสามารถทำงานในประเทศได้ต่อไป ส่วนแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย” พ.อ.ชินกาจ กล่าวและย้ำว่าจะยังคงเดินหน้าปราบปรามแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มีข่าวการกวาดล้าง จับกุมเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ แรงงานต่างด้าวชาวเขมรก็ไหลทะลักกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง ประมาณการว่ามีจำนวนกว่า 150,000 คน เพราะตื่นตระหนกข่าวลือว่าทหารไทยจะกวาดล้างและปิดด่าน โดยทางการกัมพูชาได้นำรถบรรทุกทหารและรถบัสมารับแรงงานชาวกัมพูชากลับประเทศ

การลุกลามบานปลายของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว อย่างเช่น ก่อสร้าง ประมง เกษตร งานบ้าน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ดังที่ นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า แรงงานภาคอสังหาริมทรัพย์ขาดแคลนจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวถึง 80% ของแรงงานทั้งหมด โดยแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่าและกัมพูชาเป็นหลัก เมื่อเกิดกระแสตื่นตระหนกแรงงานกัมพูชาแห่กลับบ้าน ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการก่อสร้างล่าช้า จึงอยากให้ทางการมีความชัดเจนเรื่องนโยบายแรงงานต่างด้าวทั้งการปราบปรามและการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมจะทำตามเพราะอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความวิตกกังวลต่อกระแสข่าวการหนีกลับภูมิลำเนาของแรงงานชาวเขมรกว่าแสนคนเช่นเดียวกัน และยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก่อนอันดับแรก คือ อสังหาริมทรัพย์และประมงที่คนไทยไม่ยอมทำงาน

“ไทยต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวทั้งจากกัมพูชา ลาว พม่า ประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าเป็นแรงงานแบบถูกกฎหมายแต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมายอีกเกือบ 1 ล้านคน….” นายวัลลภ กล่าว

นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้ให้ตัวเลขการนำเข้าแรงงานต่างด้าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทที่มีหนังสือเดินทางถูกต้อง จำนวน 408,507 คน แรงงานชาวพม่า 111,492 คน แรงงานชาวลาว 55,342 คน และแรงงานชาวกัมพูชา 241,673 คน และ 2. ประเภทแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 1,824,508 คน แรงงานชาวพม่า 1,630,279 คน แรงงานชาวลาว 40,546 คน และแรงงานชาวกัมพูชา 153,683 คน ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวทั้งสองประเภทดังกล่าวมีบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับทั้ง 3 ประเทศว่าเมื่อทำงานครบ 4 ปี จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งอาจจะกลับไปด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้

ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” ว่า “แรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านร่วมแสน อาจจะเป็นหมัดน็อกเศรษฐกิจ เพราะโครงการก่อสร้างจำนวนมาก ไม่สามารถเดินหน้าได้ภายใน 3 เดือน หลายโครงการที่เริ่มมีปัญหาเงินหมุนเวียนอยู่แล้ว จะทรุดหนักจนถึงขั้นค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่แบงก์ แบงก์จะต้องจัดชั้นลูกหนี้เหล่านี้ และกันสำรอง

“ถึงแม้ค่าแรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านจะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่แบงก์จะต้องกันสำรองสำหรับยอดเงินกู้ทั้งโครงการ และกำไรแบงก์จะลดลง เมื่อกระทบฐานะแบงก์ การปล่อยกู้รายใหม่ก็จะติดขัดไปหมด ปัญหาจะลุกลามต่อเนื่องไปยังธุรกิจคู่ค้าของโครงการต่างๆ ซึ่งจะขาดเงินหมุนเวียนไปด้วย และไม่ช้าถ้าถึงขั้นกระทบการจ้างงาน หนี้ครัวเรือนที่ผ่อนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะติดขัดเป็นลูกโซ่

“ไม่น่าเชื่อว่าแรงงานเขมรเพียงแสนคน จะมีผลได้มากเช่นนี้ เป็นเพราะสภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปราะบาง จากปัญหาล้นตลาดอยู่แล้ว และหลายรายก็ยังแบกภาระเก็งกำไรที่ดินไว้อีกด้วย ทั้งตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และที่อื่นๆ จึงต้องหาทางเจรจาให้แรงงานเขมรกลับคืนมาด่วนที่สุด”

การกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่กลายเป็นดาบสองคม เพราะหันกลับมาทำลายเศรษฐกิจของไทยเอง ทำให้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาแถลงถึงกระแสข่าวทหารผลักดันแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ไม่ได้มีการดำเนินการหรือมาตรการทางกฎหมายต่อแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด

“เราต้องสยบข่าวทหารไปไล่ล่าแรงงานต่างด้าวให้ได้ ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะมาจากแรงงานตื่นตระหนกไปเอง เพราะคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็เป็นการไปคุมเรื่องนโยบายมากกว่า ไม่ได้ไปเดินไล่ล่า ซึ่งก็ต้องเร่งทำความเข้าใจว่าการจัดระเบียบคือการทำให้แรงงานเข้าถึงการทำงานได้ง่ายขึ้น มีที่มาที่ไป ฝ่ายความมั่นคงจะได้คุมได้”

จากนั้น คสช.ได้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 67/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว เพื่อสยบกระแสข่าวลือที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และแรงงานต่างด้าวอพยพกลับภูมิลำเนา โดยย้ำว่า คสช. ยังไม่มีนบายที่จะเร่งรัดจับกุมกวาดล้างแรงานต่างด้าวอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

และในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวขณะนี้ กำหนดให้มีมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว โดยให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ประกอบกิจการบนบกและทางทะเล จัดเตรียมรายชื่อลูกจ้างในสังกัดให้ครบถ้วน เพื่อให้พร้อมรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในห้วงต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การประทุษร้าย รวมทั้งเพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ตลอดจนสามารถชี้แจงต่างประเทศได้ โดยไม่ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ

ประกาศ คสช. ดังกล่าว ยังระบุถึงเรื่องที่ประเทศไทยถูกกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและสังคมโลก ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเถื่อน แรงงานทาส การใช้กำลังประทุษร้ายต่อแรงงาน ฯลฯ ด้วยว่า “ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ดังนั้น การเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังออกมาปรามกลุ่มขบวนการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยว่า คสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อสืบสวนและกวาดล้างให้ได้โดยเร็ว ระหว่างการจัดระเบียบใหม่จะมีการผ่อนผันให้โดยในสถานประกอบการเดิมไม่ควรมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้ คสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประเทศ และดูแลแรงงานไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด โดยจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและต่อเนื่องมายาวนาน มีผลเสียต่อความเชื่อมั่นในต่างประเทศ และเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หากมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดมาขอเรียกรับผลประโยชน์ขอให้แจ้งข้อมูลให้ คสช.ทราบได้โดยทันที เพื่อจะดำเนินการตามกฎหายต่อไป

ขณะเดียวกัน นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนางอีต โซฟี เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาหารือและชี้แจงนโยบายเรื่องแรงงานต่างด้าวของประเทศ ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชา เห็นชอบร่วมกันที่จะขจัดข่าวลือว่าจะมีการปราบปรามแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศ ย้ำสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นประโยชน์ต่อแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกจับ และได้รับการดูแลตามกฎหมายจากนายจ้าง

อีต สุเพีย ทูตกัมพูชา ยังได้ปฏิเสธข่าวลือว่ามีการยิงและปฏิบัติไม่ดีต่อแรงงานกัมพูชาโดยเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นชนวนให้เกิดการอพยพกลับประเทศ

จะมีก็แต่เพียง นายซอเค็ง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี ของกัมพูชา ที่ออกมากล่าวหา คสช. ในปัญหาที่เกิดขึ้น "หลังทหารทำรัฐประหารในไทย ผู้นำกองทัพส่งแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาผิดกฎหมายกลับประเทศอย่างเร็วโดยไม่มีการแจ้งหรือหารือกับกัมพูชา ผมคิดว่าผู้นำทหารต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น" ซอเค็ง กล่าวในกรุงพนมเปญ และเสริมว่า ชาวเขมร 8 คน ที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์เกี่ยวข้องกับการแห่กลับประเทศของแรงงานในครั้งนี้ด้วย

การตีสองหน้าของกัมพูชา ทำให้คาดหมายได้ยากว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวเขมร จะกลับคืนสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้หรือไม่

ส่วนประเด็นที่ คสช. ปฏิเสธกระแสข่าวการใช้แรงงานเถื่อน แรงงานทาส ที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศ แต่เรื่องก็ไม่ได้จบลงง่ายๆ เพราะหลังจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ออกมาแฉว่ามีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทย โดยกลุ่มซีพีเอฟ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์อันดับหนึ่งของโลกและผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของไทยตกเป็นจำเลย ทางคาร์ฟูร์ ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส หยุดซื้อสินค้ากุ้งทุกประเภทจากกลุ่มซีพีเอฟทันที

ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยโดยตรงเท่านั้น เพราะรายงานของเดอะการ์เดียน ออกมาในช่วงเวลาประจวบเหมาะกับประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้านการค้ามนุษย์ ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานของไทยกังวลว่า สหรัฐอเมริกาจะลดอันดับประเทศไทยไปอยู่ระดับ 3 หรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.5 ติดต่อกันมา 4 ปี ถ้าหากถูกลดอันดับไปอยู่ระดับ 3 จะมีผลต่อภาพลักษณ์และการขายสินค้าของไทยที่ส่งออกไปอียูและสหรัฐอเมริกา

ความซับซ้อนของปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่เจือปนไปด้วยเรื่องความมั่นคงของชาติกับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเหล่านี้ เป็นบทพิสูจน์ฝีมือบริหารประเทศของคสช.เป็นอย่างดีว่าจะเอาอยู่หรือไม่


แรงงานชาวกัมพูชาที่แห่กันเดินทางออกจากประเทศไทยกันอย่างจ้าละหวั่น

กำลังโหลดความคิดเห็น