xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ แก้เกมข่าวแรงงานทาส / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ที่ระบุว่า สินค้าอาหารทะเลที่ผลิตจากประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การค้ามนุษย์” นับเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อชื่อเสียงของประเทศและผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตของไทยเป็นอย่างมาก
จังหวะเดียวกันนั้น กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ประกาศขึ้นบัญชีดำให้ประเทศไทยติดกลุ่มแย่ที่สุด ระดับเดียวกับเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ที่โดนข้อหาการละเมิดกฎหมายการค้ามนุษย์มากที่สุด

ถึงขนาดสรุปเอาว่า ไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านอาชญากรรมการค้ามนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และพม่า โดยมีชาย หญิง และเด็ก ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากต่างด้าวที่ถูกผลักให้ไปอยู่ในวงการค้าประเวณี แรงงานทาส การประมง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประมง
ยิ่งไปกว่านั้น นสพ.เดอะ การ์เดียน สื่อชื่อดังของอังกฤษยังได้รายงานข่าวเชิงสืบสวนการใช้แรงงานต่างด้าวราวกับทาสบนเรือประมงไทย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยมีการพาดพิงถึงบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้รับซื้อปลาป่นรายใหญ่ที่สุดของไทย ว่ามีส่วนสนับสนุนการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าว
ผลกระทบจากข่าวนี้ย่อมมีแน่ เพราะสื่อในสหรัฐฯ ได้ชี้นำว่า บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ อย่าง คอสโก วอลมาร์ท คาร์ฟูร์ และเทสโก้ ควรระงับการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เห็นชัดว่าขายสินค้าที่ผลิตจากแรงงานทาส เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยจับกุมดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดต่อแรงงาน และปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และให้มีการปฏิบัติที่ดีในฐานะมนุษย์
อดิเรก ศรีประทักษ์
ด้านซีพีเอฟ อดิเรก ศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กิจการผู้นำวงการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ย่อมร้อนตัวและมีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที ว่าจากรายงานที่กล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในเรือประมงไทย ซึ่งอาจจะเป็นผู้ส่งปลาที่จับได้ให้แก่ผู้ผลิตปลาป่นบางรายที่จำหน่ายปลาป่นให้แก่ซีพีเอฟ เพื่อใช้ในการใช้ผลิตอาหารกุ้งสำหรับการเลี้ยงกุ้งในฟาร์มของซีพีเอฟนั้น
คณะกรรมการและผู้บริหารของซีพีเอฟ มีความกังวลกับข้อกล่าวหารดังกล่าว ทั้งนี้ จากการวิจัยและพัฒนาแหล่งโปรตีนทางเลือกในปัจจุบัน ซีพีเอฟ สามารถที่จะยกเลิกการใช้ปลาป่นได้ทั้งหมด แต่ผลักปัญหาไปให้แก่อุตสาหกรรมการประมง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตตามกฎหมาย ขณะที่ผลผลิตที่ได้จากเรือประมงมีการค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาสก็ยังคงถูกซื้อโดยโรงงานอื่นๆ และปัญหาเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
การแก้ไขที่ระบบน่าจะดีกว่า โดยใช้กำลังซื้อของเราผลักดันให้มีการกำจัดการใช้แรงงานทาสในภูมิภาคของเรา และทำให้การประกอบอาชีพประมงได้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเรากำลังดำเนินการให้มีการปฏิบัติได้จริง และเราขอยืนยัน ดังนี้
1.เราขอประณามอย่างรุนแรงอย่างที่สุดต่อการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสทุกรูปแบบ
2.ซีพีเอฟ จะยกเลิกการซื้อปลาป่นจากผู้จำหน่ายที่น่าสงสัยว่าได้สินค้ามาจากเรือประมงซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานทาส ไม่ว่าผู้รับเคราะห์เหล่านั้นจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ โดยซีพีเอฟ จะร่วมมืออย่างสม่ำเสมอกับองค์กรเอกชนอิสระในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้าของผู้ที่จำหน่ายสินค้าให้แก่เรา
3.ตามที่ เดอะ การ์เดียน ได้ระบุว่ามีผู้จำหน่ายปลาป่นจำนวนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสนั้น เราได้ขอหลักฐานและรายชื่อผู้จำหน่ายปลาป่นตามที่กล่าวอ้างจาก เดอะ การ์เดียน เพื่อจะตรวจสอบผู้จำหน่ายดังกล่าวในทันทีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่ผิดกฎหมายตามที่กล่าวหาหรือไม่ และเราจะยุติการซื้อปลาป่นจากผู้จำหน่ายที่ได้วัตถุดิบมาจากเรือประมงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือการใช้แรงงานทาสจนกว่าผู้จำหน่ายเหล่านั้นจะได้ดำเนินการแก้ไขมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
4.แม้ว่าเราจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเพียงแค่การซื้อปลาป่นจากผู้จำหน่ายปลาป่นอิสระเพื่อเป็นส่วนประกอบรองในการผลิตอาหารกุ้งก็ตาม ซีพีเอฟ จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทานปลาป่นมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ข้อคิด...
ปรากฎการณ์นี้จึงยืนยันได้ว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR นั้นได้กลายเป็นกติกาโลกยุคปัจจุบัน และนับวันจะยิ่งถูกตรวจสอบเข้มงวดจริงจังจากสังคมโลก และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่ต้องการคบค้ากับกิจการที่เก่งและดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ข่าวการเปิดโปงการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสที่อยู่ในกระบวนการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเล ย่อมมีผลกระทบไปถึงกิจการยักษ์ใหญ่ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แม้ซีพีเอฟ ยืนยันว่าใช้ปลาป่นเป็นส่วนประกอบแค่ประมาณ 10 % ในการผลิตอาหารเลี้ยงกุ้ง สำหรับโรงผลิตอาหารสัตว์น้ำ 5 แห่งในประเทศไทย และทุกแห่งก็ได้การรับรองมาตรฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ขณะที่การรับซื้อปลาป่นจากโรงงานแปรรูปปลาป่นอิสระ 55 แห่ง เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงปลานั้น 40 แห่งทั้งหมดอยู่ในมาตรฐานการรับรองการไม่ทำผิดกฎหมายของกรมประมงเต็มรูปแบบ
เมื่อเป็นมวยหลักที่มีพื้นฐานยึดมั่นในหลักมาตรฐานที่ดี แม้มีข่าวกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม แต่ก็มีข้อมูลชี้แจงและยืนยันความถูกต้องเป็นธรรมในการปฏิบัติที่ดีได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้หลัก ISO 26000 ที่กำหนดขอบเขตการประกอบกิจการ มีประเด็นที่ตรงกับเหตุการณ์นี้ คือ “การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในคู่ค้า” ซึ่งโดยหลักคิด เพื่อให้ทุกกิจการในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ต่างมีหน้าที่รักษากฎหมายและข้อบังคับในการดูแลผลกระทบจากการกระทำของตนที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันกิจการผู้ซื้อวัตถุดิบก็สามารถสร้างอิทธิพลเชิงสร้างสรรค์ กดดันกิจการที่เกี่ยวข้องให้ทำดีผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และตัดสินใจซื้อ ดังที่ผู้บริหารสูงสุดของซีพีเอฟ แสดงจุดยืนว่าร่วมมือกับ 8 สมาคมที่เกี่ยวกับการประมงและอาหารทะเล ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และแสดงภาวะผู้นำ แสดงบทบาทพี่เลี้ยงในห่วงโซ่คุณค่ากับบริษัทที่เกี่ยวข้องให้ไม่ทำผิดกฎหมาย
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น