xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเทคนิคนิวเคลียร์ค้นหาแก่นกฤษณา ช่วยเกษตรกรไม่ต้องโค่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นกฤษณาไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สทน.- สทน.ส่งเทคนิคถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ค้นหาน้ำมันหอมในไม้กฤษณา ช่วยเกาตรกรไม่ต้องโค่นไม้ทั้งต้นเพื่อหาแก่นกฤษณา หวังขยายตลาดการค้าไม้กฤษณาไทย และป้องกันการสูญเสียรายได้นับแสนบาทต่อไม้ 1 กิโลกรัม

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. มีกลุ่มนักวิจัย โดยฝ่ายศูนย์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของ สทน. กำลังให้ความสนใจค้นคว้างานวิจัยใหม่ ในการสแกนแก่นของต้นกฤษณา เพื่อหาแก่นสีดำของน้ำมันหอมในต้นกฤษณา โดยการไม่ใช้วิธีการตัดต้นกฤษณามาตรวจสอบ แต่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ด้วยเครื่องมือที่ใช้เป็นเครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) เป็นเครื่องมือที่ใช้หลักการเดียวกันกับเครื่องซีทีสแกน (CT scan) ที่ใช้ในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกษตรผู้ปลูกต้นกฤษณาต้องสูญเสียต้นกฤษณา อันเป็นวัตถุดิบส่วนผสมน้ำหอมชั้นดี และกันการสูญเสียรายได้นับแสนบาทต่อไม้กฤษณา 1 กิโลกรัม

ดร.ชนาธิป ทิพยกุล นักวิศวกรนิวเคลียร์ ของ สทน. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมภายในหน่วยงานสายบริการเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนางานบริการใหม่ของสทน. ชื่อโครงการคือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ โดยจุดมุ่งหวังของโครงการคือการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับงานอุตสาหกรรม เช่น การถ่ายภาพความเสียหายของโครงสร้างภายในของอุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเคมี การอุดตันหรือการผุกร่อนของท่อที่ห่อหุ้มฉนวน เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ ดร.ชนาธิป ระบุว่ามาจากความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชีย (RAS project) ภายใต้การสนับสนุนของทบวงพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ไอเออีเอ (IAEA) โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมและศึกษาเทคโนโลยีนี้ และทางไอเออีเอได้สนับสนุนโดยการจัดส่งเครื่องมือต้นแบบมาให้ห และทางทีมงานได้ศึกษาและปรับปรุงเครื่องมือต้นแบบ และในปีงบประมาณ 2557 ทางทีมงานได้วางแผนที่จะนำเครื่องมือต้นแบบที่ปรับปรุงแล้วมาลองทดลองใช้ในงานจริง และทีมงานได้ลองติดต่อประสานงานเพื่อหาชิ้นงานต่างๆ สำหรับการทดลอง

จากการติดต่อมีการถ่ายภาพเพื่อวิเคราะห์แก่นไม้กฤษณาอยู่ด้วย ทีมงานเห็นว่าชิ้นงานนี้น่าสนใจและพื้นที่อยู่ในจังหวัดนครนายกอีกด้วย จึงได้เริ่มติดต่อประสานงานกับเจ้าของสวนไม้กฤษณา เพื่อเข้าไปดูพื้นที่และเก็บข้อมูลเบื้องต้น หลังจากจึงได้ทดลองในห้องปฏิบัติการโดยได้ปรับเปลี่ยนต้นกำเนิดรังสีให้เหมาะสมขึ้น หลังจากได้ผลเบื้องต้นจึงได้ประสานงานเข้าไปขอทดลองในพื้นที่จริง

“เครื่องมือที่ใช้เป็นเครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้หลักการเดียวกันกับเครื่องซีทีสแกนที่ใช้ในโรงพยาบาลซึ่งใช้เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์เป็นต้นกำเนิดรังสี สำหรับเครื่องมือที่ใช้นี้ใช้รังสีแกมมาในเป็นต้นกำเนิดรังสีซึ่งทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในพื้นที่งานได้” ดร.ชนาธิป กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงานจาก สทน.ได้วิจัยการใช้ต้นกำเนิดรังสีแกมมาชนิดต่างๆ เช่น อะเมริเซียม241 ,ซีเซียม 137 และ โคบอลต์ 60 เป็นต้น โดยลักษณะงานแต่ละประเภทขึ้นกับพลังงานของต้นกำเนิดรังสี สำหรับการถ่ายภาพแก่นไม้กฤษณานั้น ได้ใช้ต้นกำเนิดรังสีชนิด อะเมริเซียม 241  ซึ่งมีช่วงพลังงานต่ำซึ่งจะเหมาะสมการกับถ่ายภาพแก่นไม้กฤษณามากที่สุด

การทำงานของเครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ คือการนับวัดการส่งผ่านรังสีในหลายๆ มุม และนำผลที่นับวัดมาใช้ในการสร้างภาพด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์ การถ่ายภาพในลักษณะนี้จะทำให้เห็นภาพในมุมตัดขวางซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพด้วยรังสีแบบธรรมดา

ดร.ชนาธิป กล่าวเสริมว่า ทางทีมวิจัยของ สทน. สนใจว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำเข้าไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์หาขนาดของแก่นไม้กฤษณาโดยไม่ต้องตัดหรือทำลายต้นไม้ได้หรือไม่ เนื่องจากราคาของแก่นไม้กฤษณาจะมีราคาสูงขึ้นหากแก่นไม้มีขนาดโตเป็นชิ้นเดียวกัน การที่สามารถวิเคราะห์หาขนาดของแก่นไม้กฤษณาโดยไม่ทำลายได้จะทำให้เจ้าของสามารถตัดสินใจได้ ว่าจะปล่อยให้ต้นไม้โตต่อไปหรือจะตัดโค่น

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์จะทำให้เจ้าของสวนสามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้ดีขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันไม่สามารถทราบได้ว่ามีแก่นไม้กฤษณาขนาดไหนทำให้มีการประเมินราคาขายในราคาต่ำ และอีกข้อดีคือจะช่วยเจ้าของให้ศึกษาผลของเทคนิคการกระตุ้นแก่นไม้กฤษณาได้อีกด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เริ่มใช้แล้วในมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกได้กฤษณาเช่นกัน

ทางด้านนายลิขิต แก้วแห่ เกษตรกรผู้ปลูกต้นกฤษณากล่าวว่า ไม้กฤษณา เป็นไม้ที่ได้ความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่พี่น้องชาวมุสลิม จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่าเหตุที่ประเทศ ในกลุ่มตะวันออกกลางและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม มีความต้องการกฤษณามากเป็น เพราะข้อบัญญัติในศาสนาอิสลามที่บัญญัติให้ใช้น้ำหอมและเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชได้เท่านั้นห้ามใช้ส่วนผสมที่มี แอลกอฮอลล์ จึงทำให้กฤษณาเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม้กฤษณาจะมีสารหลั่งที่เรียกอย่างชาวบ้านว่า “น้ำมันหอมกฤษณา” ซึ่งมีราคาสูงมาก เพราะหายาก

ทั้งนี้ ในเนื้อไม้หรือแก่นของไม้กฤษณา ไม่ได้การันตีว่าจะมีปริมาณมาก และไม่ได้มีทุกต้น เนื่องจากว่า ต้นกฤษณานั้น ต้องมีการการกระตุ้นหรือถูกทำร้ายต้น หรือทำให้ระคายเคืองเท่านั้น ต้นกฤษณาจึงจะหลั่งสาร หรือน้ำมันนี้ หรือน้ำยางออกมาเพื่อรักษาตัวเอง และสารหลั่งนี้เอง คือผลผลิตที่เกษตรกรผู้ค้นมีความต้องการสูง หากต้นกฤษณามีการหลั่งสารน้ำมันหอมนี้มาก ในแก่นของไม้กฤษณาจะมีสีดำให้เห็นชัดเจน หากมีความดำมาก ยิ่งทำให้เมื่อนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมจะมีปริมาณมาก และราคาในท่อนไม้หนึ่งท่อน จะมีมูลค่าสูงถึง กิโลกรัมละ หนึ่งหมื่นถึงหลายแสนบาท

ในไทยพื้นที่ที่สามารถปลูกไม้กฤษณาได้ และเหมาะจะเป็นบริเวณที่ติดกับเขาใหญ่ หรือแนวเชิงเขา เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ร้อนและไม่หนาวเย็นจนเกินไป ทำให้ไม้กฤษณานั้นมีคุณภาพค่อนข้างดี แต่มูลค่าที่จะได้มากถึงกิโลกรัมละแสนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเทคนิคในการกระตุ้นให้น้ำมันหอมที่หลั่งออกมาจากต้นนั้น มีปริมาณมากน้อยเพียงใด

“งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้มีส่วนช่วยในการส่งเสริม เกษตรกรชาวสวนกฤษณาในประเทศไทย ได้มีการขยายตลาดการค้าไม้กฤษณาไปทั่วโลกได้ เพราะหากทราบว่ามีน้ำหอมมากเท่าใดในแก่นไม้กฤษณา เกษตรกรก็ไม่ต้องทำลายหรือตัดไม้กฤษณาแบบเดาสุ่ม แล้วขายในราคาต่ำหากต้นกฤษณายังไม่โตพอจะผลิตน้ำมันหอม” ดร.ชนาธิปกล่าว
เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีโดยการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ระหว่างใช้งานเพื่อหาแก่นกฤษณา

ดูผลผ่านคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องโค่นต้นไม้

Instagram







กำลังโหลดความคิดเห็น