ผู้เชี่ยวชาญแมงมุมชี้...ฟันธงไม่ได้ “แม่ม่ายน้ำตาล” กัดหนุ่มแพร่ดูภาพตัวอย่างแมงมุมที่ญาติจับมาพบมีแต่แมงมุมไม่มีพิษและแมงไม่มีพิษ พร้อมแจงอาการแมงมุมกัดมักบวมแดง ถ้าแม่ม่ายน้ำตาลกัดจะชาก่อนเนื่องจากพิษทำลายประสาท และหายภายใน 5-7 วันเมื่อไปพบแพทย์
นายประสิทธิ์ วงศ์พรหม นักวิจัยแมงมุมซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงข่าวชายวัย 36 ปีใน จ.แพร่ ถูกแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลกัดจนอาการโคม่า และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลังจากปล่อยทิ้งไว้นานวัน 3 วัน
ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแมงมุมกล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงได้ว่าชายคนดังกล่าวถูกแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลกัดจริง อย่างแรกคือเมื่อพิจารณาภาพแมงมุมที่ญาติของชายคนดังกล่าวจับมา เขาสามารถจำแนกได้ทันทีว่าในภาพนั้นมี “แมงโหย่ง” ซึ่งไม่ใช่แมงมุมและไม่มีพิษ แมงดังกล่าวอยู่ในกลุ่มคล้ายแมงมุม ล่ามดและแมลงเป็นอาหาร ใช้หนามบนหลังป้องกันตัว แมงอีกตัวที่มีขาลีบๆ คือ “แมงหยากไย่” ซึ่งเป็นแมงมุมที่ไม่มีพิษ กินสัตว์เล็กเป็นอาหาร และ “แมงมุมพเนจรบ้าน” ซึ่งยังเป็นตัวอ่อน พบได้ตามบ้านเรือนทั่วไป กินแมงหวี่ แมลงวัน แมลงสาบเป็นอาหาร กัดเจ็บ แต่ไม่มีพิษรุนแรง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากภาพบาดแผล ประสิทธิ์ฟันธงได้ว่า สัตว์ในภาพข่าวไม่ทำให้เกิดแผลเหวอะหวะเช่นนั้น ลักษณะแผลในภาพข่าวดูเหมือนเกิดการอักเสบและติดเชื้อรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นแผลจากการถูกแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลกัด เนื่องจากผ่านไปหลายวัน และจากประสบการณ์ที่เคยถูกแมงมุมกัดมาก็ไม่ได้เป็นแผลลักษณะนี้ เว้นเสียแต่ว่าผู้ถูกกัดนั้นมีอาการอักเสบเร็ว เม็ดเลือดขาวไม่ดี หรือมีโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน เป็นต้น
“ถ้าแม่ม่ายน้ำตาลกัดจะเป็นจ้ำจุดแดง ผ่านไป 30 นาทีถึงชั่วโมง จะปวดขา เนื่องจากพิษจากแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลเป็นพิษระบบประสาท พิษจะวิ่งไปที่ปลายประสาทไปถึง ดังนั้น จะชาก่อนถ้าไปพบแพทย์ก็จะได้ยาแก้อักเสบ ยาป้องกันบาดทะยัก ถ้าไม่รุนแรงก็จะหาขาดใน 3 วัน แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ พิษจะกระจาย มีอาการบวมรอบๆ ปากแผล แผลไหม้ ซึ่งลักษณะแผลในข่าวที่ดำสนิทน่าจะเป็นการติดเชื้ออย่างอื่น แพทย์น่าจะตรวจดูเลือดดูว่าติดเชื้ออะไรบ้าง นอกจากนี้หากเป็นเบาหวานแล้วปล่อยแผลทิ้งไว้ก็อาจเกิดการแทรกซ้อนและเกิดแผลเหวอะหวะ ซึ่งสัตว์อย่างอื่นกัดก็ติดเชื้อได้เหมือนกัน” ประสิทธิ์ระบุ
สำหรับแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลนั้น ประสิทธิ์บอกว่า เป็นแมงมุมที่กระจายไปทั่วโลกแล้ว ในไทยพบกระจายกว่า 20 จังหวัด ซึ่งเข้ามาไทยตั้งแต่เมื่อไรไม่สามารถบอกได้ เพราะแมงมุมชนิดนี้มาพร้อมกับการขนส่งสินค้า หลบอยู่ตามมุมตามซอกของที่อยู่อาศัย จึงควรทำความสะอาดบ้านเรือนไม่ให้รกและเป็นแหล่งอาศัยของแมงมุม และเนื่องจากแมงมุมชนิดนี้อาศัยอยู่ร่วมกับคน จึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะได้ข่าวคนถูกกัด
“สำหรับเมืองไทยนั้นน่าจะมีแมงมุมแม่ม่ายไม่น้อยกว่า 4 ชนิด นอกจากแม่ม่ายน้ำตาลแล้ว ยังมีแมงมุมแม่ม่ายดำซึ่งกระจายอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้เลี้ยง และคาดว่าจะมีแม่ม่ายใหญ่และแม่ม่ายแดง แต่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้” ประสิทธิ์กล่าว ส่วนพิษแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลที่รุนแรงกว่าพิษงูเห่านั้นต้องเทียบในปริมาณที่เท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแมงมุมกัดนิดเดียว ถ้าจะกัดให้ได้พิษเท่ากับงูเห่าต้องกัดถึง 150 ครั้ง