อ.ธรณ์เผย ปะการังอ่าวพร้าวโดน “เอลนีโญ” กระหน่ำซ้ำหลังเพิ่งเผชิญน้ำมันรั่วเมื่อปีแล้ว พบปะการังฟอกขาวหนักจนน่าใจหาย ชี้อ่าวพร้าวดีแต่ยังไม่โอเค อย่างไรก็ดี ยังมีข่าวให้ชื้นใจว่า สัตว์ทะเลและไส้เดือนทะเลที่เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์เริ่มกลับมา
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ตอนนี้สภาพแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ดูภายนอกแล้วเหมือนปกติแต่ความจริงแล้วยังไม่ใช่ แม้ว่าตอนนี้น้ำทะเลกลับมาใสและหาดทรายสวยเหมือนเดิม ไม่มีคราบน้ำมันเหมือนเมื่อเกิดเรื่องใหม่ๆ แต่ถ้าลองขุดทรายลงไปเพียงแค่หนึ่งคืบก็จะพบฟิล์มน้ำมันบางๆ ซึมออกมา
แม้บริเวณหาดทรายทะเลอ่าวพร้าวจะไม่มีคราบน้ำมันหลงเหลือ หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่วแล้ว เพราะทุกหน่วยงานได้ออกมาช่วยกันซับน้ำมันออกตามที่เห็นเป็นภาพข่าวมากมาย แต่จากการลงพื้นที่ของทีมวิจัยเพื่อวัดค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (Petrolium Hydrocarbon) ในทราย บอกได้ชัดว่าคราบน้ำมันยังมีอยู่ ซึ่งค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในทรายที่อ่าวพร้าววัดค่าได้ถึง ประมาณ 2 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักดินแห้ง1กรัม แต่ในบริเวณข้างเคียงสามารถวัดค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนได้เพียง 0.5 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักดินแห้ง 1 กรัม หรือบริเวณอ่าวพร้าวมีค่าสูงกว่าถึง 4 เท่า
“ผมลองขุดทรายลงไปที่ความลึก 1 คืบ ผมก็พบกับฟิล์มน้ำมันซึมออกมากับน้ำทะเลอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นถ้าบอกว่าน้ำมันหมดไปจากอ่าวพร้าวแล้ว ต้องบอกใหม่นะว่า หมดไปจากข้างบนแต่ซึมอยู่ข้างล่างผืนทรายถึงจะถูก" ดร.ธรณ์ กล่าว
หลังจากเหตุการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนก็ลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมวิจัยพบว่ามีค่าสูงขึ้น ซึ่ง ดร.ธรณ์ให้ความเห็นว่านั่นอาจเป็นเพราะช่วงนั้นเกิดมรสุม และมีปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าปีอื่นๆ ทำให้ทรายที่ดูดซับน้ำมันอยู่ด้านล่างพลิกตัวขึ้นมาจากกระแสน้ำที่ซัดแรง น้ำมันที่ซึมอยู่ภายในทรายจึงออกมากับน้ำทะเลมากขึ้น
“ผมสันนิษฐานว่าเกิดจากแบบนี้ มันทำให้ผมค่อนข้างแน่ใจว่ามันยังไม่ปกติแน่ๆ" รองคณบดี คณะประมงสันนิษฐาน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ดร.ธรณ์ระบุว่า น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ปะการัง ซึ่งตอนนี้พบว่าปะการังโดยเฉพาะปะการังชนิดก้อนล้วนฟอกขาวเกือบทั้งหมด หลังจากที่น้ำมันรั่วเมื่อปลายเดือน ก.ค.56 ปะการังในแถบนั้นฟอกขาวอย่างเฉียบพลันทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากน้ำทะเลปนเปื้อนขนาดนั้น และผ่านมาถึงเดือน ก.ย.ปีเดียวกันพบว่า ปะการังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงอ่อนแออยู่ ทำให้เขาเบาใจขึ้นบ้างแต่ก็ยังไม่วางใจ หลังจากนั้นก็มีเรื่องโรคปะการัง และปะการังสภาพดีบ้างหรือแย่บ้าง สลับกันไป จนกระทั่งเขาและทีมได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 57 พบว่าปะการังฟอกขาวจนเกือบหมดอย่างน่าใจหาย
"ผมเปรียบปะการังเหมือนคนไข้ เจอโรคบุกหนักก็ทรุดเป็นธรรมดา พอได้ยาก็ดีขึ้น แต่อีกเดี๋ยวก็กลับมาป่วยอีก เพราะจริงๆ มันไม่แข็งแรง ต้องรอให้มันฟื้นตัว แต่ผมห่วงภาวะโลกร้อนขณะนี้ ที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ประกอบกับเอลนีโญปีนี้ค่อนข้างรุนแรง เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดปะการัง” ดร.ธรณ์กล่าว
อย่างไรก็ดี นักสมุทรศาสตร์เผยว่ายังมีเรื่องน่ายินดีเช่นกันที่ตอนนี้เริ่มพบการกลับมาของสัตว์ทะเล และไส้เดือนทะเล ที่เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำบ้างแล้ว หลังจากที่หายไปนานมากหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว โดยตอนนี้พบไส้เดือนทะเลที่ 2 ตัวต่อตารางเมตร จากที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ 10 ตัวต่อตารางเมตร ที่แม้จะยังน้อยอยู่แต่ก็น่าดีใจที่สัตว์เหล่านั้นกลับมา
“อ่าวพร้าวตอนนี้ดีขึ้นจริง แต่ยังไม่โอเค แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือปะการัง ที่ยังไม่หายดีจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วคราวนั้น กลับต้องมาโดนเอลนีโญซ้ำเข้าไปอีก ถ้าเป็นไปได้ผมขอร้อง อย่าไปว่ายน้ำแถวแนวปะการังนั้นเป็นอันขาด และผมเป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่า ว่ายน้ำได้ อาหารทะเลกินได้แน่นอน เพราะผมลองมาหมดแล้ว และที่แน่ๆ คือ สรุปว่าระบบนิเวศที่นี่ใน 1 ปียังไม่โอเค" ดร.ธรณ์ ให้ความเห็นตบท้าย