xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย ม.บูรพาคาด “เสม็ด” น่าจะฟื้นคืนปกติในอีก 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วิชญา กันบัว อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
นักวิจัย ม.บูรพาเผย สัตว์หน้าดินเริ่มกลับมาชายหาดเสม็ด หลังเผชิญน้ำมันรั่วเมื่อปีที่ผ่านมา คาดอีก 3 ปีน่าจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม วอนนักท่องเที่ยวไม่รับกวนสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์ทะเลเกินจำเป็น เพื่อให้ฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น

นายชูชาติ อ่อนเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (ระยอง-จันทบุรี) กล่าวว่า เหตุการณ์เรือขนส่งน้ำมันปตท.รั่วที่ อ่าวพร้าว อ.เกาะเสม็ด จ.ระยอง นับเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบรุนแรงต่อธรรมชาติ และระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก เกาะเสม็ดนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง การฟื้นฟูภาพลักษณ์เกาะเสม็ดและจ.ระยอง ความเชื่อมั่นด้านการบริโภคอาหารทะเล ความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ดในรูปแบบต่างๆ และความพยายามในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมาดังเดิมจึงเป็นสิ่งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการอย่างหนักเพื่อทำให้การท่องเที่ยวเกาะเสม็ดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ดร.วิชญา กันบัว อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า ผ่านมาแล้วเป็นเวลา 1 ปีกับ 4 วันจากเหตุการณ์วันนั้น ขณะนี้การท่องเที่ยวเกาะเสม็ด และธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว แต่การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป เพื่อใช้เป็นตัววัดผลการเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติในทุกๆ ด้าน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุน 3 มหาวิทยาลัยในการทำวิจัยใน 3 หัวข้อ แบ่งเป็นทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการศึกษาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและปะการัง ส่วนที่สองทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบของน้ำมันต่อระบบนิเวศน์ และส่วนที่สามทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพาทำการศึกษาเรื่ององค์ประกอบและโครงสร้างของสัตว์ทะเลหน้าดิน เพื่อเป็นการติดตาม ตรวจสอบเหตุการณ์และผลกระทบที่ได้รับภายหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว

"หลังจากเหตุการณ์คราวนั้น ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาเพื่อดูองค์ประกอบและโครงสร้างของสัตว์ทะเลหน้าดินว่ามีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีจำนวนเท่าไร ดูลักษณะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลายับแต่เกิดเหตุ ซึ่งจากการลงพื้นที่ในสัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ แทบไม่พบสัตว์ทะเลที่เคยอยู่ประจำถิ่นเลยเหลือเพียงหอยสองฝาที่ติดอยู่บริเวณโขดหินเพราะไม่สามารถเคลื่อนไปไหนได้ อยู่ในสภาพที่อ่อนแอและตายเป็นที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะมีความชุกชมของสัตว์ทะเลค่อนข้างน้อย สิ่งมีชีวิตค่อนข้างน้อย และจำนวนน้อย ชายหาดถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมันที่ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและมีสารตกค้างที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หลังจากเวลาผ่านไปพบว่าจำนวนของสัตว์หน้าดินบางกลุ่มมีมากขึ้น มีชนิดมากขึ้น ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีหลังจากได้รับผลกระทบ" ดร.วิชญา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า ในขั้นตอนการศึกษาจะทำการเก็บตัวอย่างที่บริเวณหาดทราย ที่บริเวณต่างๆ และความลึกต่างๆ แล้วร่อนด้วยตะแกรงที่ความกว้างรูลอดขนาดต่างกันเพื่อดูชนิด และจำนวนของสัตว์หน้าดินที่พบ วัดค่าตัวแปรต่างๆ ของน้ำทะเล ทั้งปริมาณการละลายของออกซิเจนในน้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าอุณหภูมิและความเค็ม ดูพฤติกรรมของสัตว์หน้าดินที่เป็นดัชนีชี้วัด โดยสัตว์ทะเลหน้าดินที่ทีมวิจัยใช้เป็นตัวดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวพร้าวหลังได้รับผลกระทบ จะเลือกจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ประจำถิ่น ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปจากบริเวณที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะไกลได้และมีพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างเด่นชัด

ทั้งนี้ มีสัตว์หน้าดินที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัด 3 ชนิด ชนิดแรกคือปูทหาร เป็นปูที่มีลักษณะคล้ายหมวกทหาร จะพบการเพิ่มจำนวนค่อนข้างเยอะ โดยสังเกตร่องรอยได้จากการกลิ้งทรายเป็นเม็ดกลมๆ บนหาดทรายขณะน้ำลง ชนิดที่สอง คือ ไส้เดือนทะเล ลักษณะคล้ายเส้นด้ายสีแดงอมชมพูที่มักพบอาศัยฝังตัวอยู่ใต้ผืนทราย และชนิดที่สาม คือ หนอนงวง (Acorn worm) ที่มีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ จะอาศัยอยู่ตามหาดทรายที่ถัดลงไปเกือบถึงชายน้ำ โดยสังเกตร่องรอยจากการดันทรายเป็นเส้นกองอยู่บนหาดทราย นอกจากนี้ยังสำรวจสัตว์อื่นๆด้วย เช่นสัตว์ที่อยู่ตามโขดหินเช่น หอยฝาเดียว กลุ่มที่พบอยู่ใกล้ๆขอบของแนวปะการังพวก เม่นทะเล ปลิงทะเลหรือพวกลูกปลาวัยอ่อนที่เข้ามาหากิน ที่พบว่ามีความถี่ที่พบมากขึ้นเช่นกัน

ผลการศึกษาของการติดตามและประเมินผลทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะมีผลกระทบ บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ระหว่างเดือน ก.ค.56-มิ.ย.57 ทีมวิจัยพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนหาดเริ่มปกติ ทรายกลับมาเป็นสีขาวนวลเหมือนเดิมอาจเป็นผลดีจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามารบกวน พบสัตว์ทะเลหน้าดินจำพวกหนอนงวง และแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กซึ่งพอจะบ่งบอกได้ว่าน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเนื่องจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ดร.วิชญา อธิบายต่อว่าทีมวิจัยได้ลงพื้นที่อีกหลายครั้งแล้วก็พบกับข่าวดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากการสำรวจ พบสัตว์ทะเลมีหลากหลายชุกชุม และจำนวนที่พบก็มีมากขึ้น อาทิ ปูทหาร หอยสองฝา ไส้เดือนทะเล หอยนางรม ลิ่นทะเล ปูใบ้ ดอกไม้ทะเล สาหร่ายสีแดง และลูกปลาวัยอ่อน จนถึงการสำรวจครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ในช่วงเดือน ก.ค.ที่เป็นช่วงฤดูมรสุมพบว่า มีจำนวนทรายมากขึ้นและปริมาณน้ำมันที่ฝังตัวอยู่ในชั้นทรายหายไปจนเกือบหมด พบหอยสองฝาพวกหอยนางรมจำนวนมาก ไส้เดือนทะเล หนอนงวง ปูทหาร ปูลม ปูเสฉวน ปูแสมหิน ดาวเปราะ ดาวทะเล ปลาคางคก ซึ่งเป็นที่น่าพอใจเพราะความหลากหลายของสัตว์ทะเลดีขึ้นกว่าตอนเกิดเหตุการณ์แรกๆมาก

ถ้านำค่าความชุกชมเหล่านี้ไปเปรียบเทียบค่าความสมบูรณ์กับในพื้นที่อื่นๆ เช่น หาดทรายแก้ม เพ หรือแม้แต่บางแสน ดร.วิชญากล่าวว่า อ่าวพร้าวอาจจะยังสู้ไม่ได้ ต้องให้เวลาธรรมชาติฟื้นตัวอีกสักพัก หลังจากนี้ผมทีมวิจัยจะเข้ามาสำรวจในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ โดยหวังว่านอกจากตัวนักวิจัยที่ทำงานในการติดตามตรวจสอบแล้ว ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกันให้อ่าวพร้าวดีขึ้นและดีขึ้นมากกว่านี้ หน่วยงานราชการควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการวิจัยและตรวจสอบ

“สิ่งสำคัญคือประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่อ่าวนั้น ต้องไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์ทะเลเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาโดยไม่ถูกรบกวนมากเกินจำเป็น จากที่ผมทำงานวิจัย และในความคิดเห็นส่วนตัว ผมว่าอ่าวพร้าวดีขึ้นทุกวันๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ายังไม่ทราบว่าจะเทียบกับก่อนหน้าที่เกิดเหตุได้หรือไม่ เพราะต้องเทียบกับจุดเริ่มต้นของเดิมว่าเราเคยมีอยู่เท่าไหร่ หายไปเท่าไร แล้วฟื้นตัวแล้วกี่เปอร์เซ็น โชคไม่ดีที่เราไม่มีข้อมูลก่อนหน้าเพื่อจะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบแต่ผมคาดว่าอีก 3 ปีทุกอย่างน่าจะเข้าใกล้ภาวะเดิมมากที่สุด และผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดในฐานะนักวิจัย” ดร.วิชญา กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การสำรวจปะการังครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์ปะการังทางแถบอ่าวพร้าวนั้นน่าเป็นห่วงมาก พบปะการังฟอกขาวเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มของปะการังก้อน ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วใหม่ๆ ปะการังได้ฟอกขาวอย่างเฉียบพลันไปรอบหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่ตอนนี้ปะการังกลับมาฟอกขาวอีกครั้งจนน่าใจหาย อาจมีสาเหตุมาจากการได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วคราวก่อน ประกอบกับอยู่ในช่วงลมมรสุม และปรากฏการณเอลนีโญที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนทำให้ปะการังที่ไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้วบอบช้ำมากกว่าเดิมจนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของปะการัง

“อ่าวพร้าวตอนนี้ดีขึ้นจริงแต่ยังไม่ถึงที่สุด คราวน้ำมันก็ยังมีบ้างเป็นฟิล์มบางๆ หากไปลองขุด แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายเพราะสัตว์ทะเลหน้าดินอยู่กันได้ น้ำทะเลเล่นได้ อาหารทะเลกินได้ ผมยืนยัน” ดร.ธรณ์ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV -ผู้จัดการออนไลน์
อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง

Instagram








กำลังโหลดความคิดเห็น