นอกจากลักษณะอาการที่รุนแรงแล้ว การไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันไวรัส “อีโบลา” เป็นอีกปัจจัยที่สร้างความกังวลและตื่นตระหนก ซึ่งสื่อต่างประเทศได้รายงานถึงเหตุผลที่ปัจจุบันเรายังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว
ฮัฟฟิงตันโพสต์หยิบบทสัมภาษณ์จากรายการฮัฟโพสต์ไลฟ์ (HuffPost Live) มารายงานถึงเหตุผลที่ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลา ซึ่งกำลังระบาดอยู่ทางแอฟริกาตะวันตกในขณะนี้ โดย ดร.โทมัส ดับเบิลยู ไกส์เบิร์ต (Dr.Thomas W. Geisbert) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) สหรัฐฯ เผยว่า ทีมของเขาได้พัฒนาวัคซีนหลายตัวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปกป้องสัตว์ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งรวมถึงกลุ่มไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ จากเชื้อไวรัสอีโบลา
ทว่าในการพัฒนาสู่วัคซีนสำหรับมนุษย์นั้น ดร.ไกส์เบิร์ทกล่าวว่าต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ใช้เวลายาวนาน โดยเวลาจากการพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์สู่วัคซีนสำหรับคนมีกฎระเบียบให้ต้องปฏิบัติตามมากมาย และไม่เพียงเท่านั้น ดร.สตีเฟน มอร์ส (Dr. Stephen Morse) นักระบาดวิทยา จากวิทนาลัยสาธารณสุขเมลแมน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญ โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องมั่นใจได้ว่า การจำหน่ายวัคซีนนั้นคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญชาวไทย ผศ.ดร.วันชัย อัศวลาภสกุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า อีโบลา หรือ EVD (Ebola Virus Disease) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสอีโบลา (Ebola Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสแบบมีเยื่อหุ้ม เป็นแท่งยาวแบบมีเส้นสาย (filamentous virions) จุดกำเนิดของเชื้ออีโบลานั้นเชื่อว่ามาจากประเทศทางทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยมีแหล่งรังโรคอยู่ในลิงป่า และค้างคาวกินผลไม้ การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลานั้นจะติดจากคนสู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง และการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ
การระบาดที่เป็นข่าวในปัจจุบันนั้น ผศ.ดร.วันชัย เชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากการเดินทางของผู้ป่วยจากประเทศแถบที่มีการระบาดของ เชื้อ โดยไม่มีมาตรการรับมือที่รัดกุมเพียงพอ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบอวัยวะภายในแย่ลง อาจมีอาการอาเจียน ท้องเสีย มีผื่นแดงขึ้นขึ้นตามตัว โดยเชื้อมีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน
“โดยส่วนตัวผมว่าค่อนข้างน่ากลัว แต่ไม่ได้กลัวที่เชื้อไวรัสเพราะ มีโอกาสติดยากมาก แต่น่ากลัวตรงที่หากติดแล้วยังไม่มีทางรักษา อีโบลาน่ากลัวกว่าไวรัสเอชไอวีที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ด้วยซ้ำ เพราะอีโบลาเป็นโรคติดต่อเฉียบพลันรุนแรง แต่เอดส์ร้ายแรงตรงที่หากเป็นแล้ว ภูมิคุ้มกันจะแย่ลงทำให้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น แต่ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกจนมากไปนัก เพราะโอกาสติดเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสน้อย ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศทางแถบแอฟริกาตะวันตก และรักษาสุขภาพของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดีก็น่าจะเพียงพอ” ผศ.ดร.วันชัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ทั้งนี้ไวรัส อีโบลาจัดเป็นเชื้อที่ต้องควบคุมไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมความปลอดภัยสูงสุดในระดับ 4 (Biosafety level 4) ซึ่ง ผศ.ดร.วันชัย ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องใส่ชุดคล้ายชุดนักบินอวกาศในการปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อ โดยชุดจะสามารถป้องกันเชื้อและฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กได้ถึง 0.01 ไมครอน มีการใส่ห่อหายใจภายในเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและหลังจากการใช้ชุดจะถูกทำ ความสะอาดและกำจัดเชื้ออีกครั้งด้วยเครื่องอบให้ความร้อน (Autoclave)
ทางด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรกุล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า อาการของโรคคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก แต่ร้ายแรงกว่ามาก เพราะจะมีอาการเลือดออกที่รุนแรงในทางเดินอาหาร อวัยวะภายใน เกิดเลือดออกใต้ชั้นผิวหนังที่ชัดเจนและมีบริเวณใหญ่กว่าผื่นแดงของโรคไข้ เลือดออก อีโบลาเคยมีการระบาดมานานแล้วแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ทำได้ดีที่สุดคือ การให้ยาการรักษาตามอาการ
“อีโบลาแพร่จากคนไปสู่คนผ่านสารคัดหลั่ง คนที่ติดโรคส่วนมากจะเป็นแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ไม่ได้ติดต่อโดยลม หรือการหายใจรดกันแบบที่เข้าใจกันผิด ปัจจุบันพบการระบาดจากประเทศเซียร์ราลีโอน ประเทศไลบีเรีย ประเทศกินี และประเทศไนจีเรีย ซึ่งจากประวัติผู้ติดเชื้อเริ่มแรกเกิดจากการสัมผัส หรือถูกกัดจากลิง หรือค้างคาวกินผลไม้ในป่าที่เป็นแหล่งรังโรค รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคเนื้อลิงของคนในท้องถิ่นด้วย” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยากล่าว
ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสอีโบลาทั่วโลก ยังมีไม่แพร่หลายมากนัก ปัจจุบันต่างประเทศมีความพยายามในการพัฒนายารักษาโรค วัคซีนและแอนติบอดีแต่ยังอยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ทดลองที่ยังไม่แล้วเสร็จ และงานวิจัยทางอ้อมที่เป็นการศึกษายีนและโปรตีนเพื่อผลิตเป็นแอนติบอดีซีรัมสำหรับรักษาคนที่ติดโรคในอนาคต
“ในประเทศไทยการวิจัยเกี่ยวกับอีโบลาแทบจะไม่มีเลย เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการศึกษาหลายประการด้วยกัน ประการแรกไวรัสอีโบลา เป็นไวรัสที่ถูกจัดอยู่ในระดับที่มีความอันตรายรุนแรงระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ในการศึกษาวิจัยที่จำเป็นต้องมีการเลี้ยงเชื้อจึงต้องทำภายในห้องปฏิบัติที่ มีความปลอดภัยระดับสูงสุดซึ่งในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น อีกทั้งแต่เดิมอีโบลาเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่นในทวีปแอฟริกาตะวันตก จึงยังไม่เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมากนัก และสุดท้ายเป็นเรื่องของความซับซ้อนทางไวรัสเนื่องจากยังมีการศึกษาน้อย ทำให้ข้อมูลพื้นฐานทางไวรัสวิทยาของเชื้อชนิดนี้มีน้อยด้วยเช่นกัน ในอนาคตคาดว่าจะมีคนหันมาสนใจและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสอีโบลานี้มากขึ้น อย่างแน่นอน” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ศ.นพ.ประเสริฐ ยังฝากถึงคนไทยว่า โรคติดเชื้ออีโบลาไม่น่าเป็นห่วง ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกเกินไป อีโบลามีการระบาดน้อย มีการเดินทางของโรคน้อยและไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ อยากให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและรู้จักป้องกันตนเอง และอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเดินทางโดยเฉพาะสนามบิน และสถานศึกษาที่มีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการพร้อม มีการเตรียมการรับมือ เพื่อการตรวจคัดกรองและตรวจสอบนักเดินทางที่มีประวัติการเข้าออกจากประเทศ กลุ่มเสี่ยงด้วย
ทางด้าน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมจุฑา ศาสตราจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่า คณะนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถตรวจวิเคราะ์เชื้อไวรัสในตระกูลอีโบลาได้ทั้งหมด โดยตรวจผ่านสิ่งส่งตรวจที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว เนื่องประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติที่มีความปลอดภัยทางชีววิธีถึงระดับ 4 แต่ที่คณะแพทย์ จุฬาฯขณะนี้มีห้องปฏิบัติการระดับ 3 ที่สามารถตรวจสอบเชื้อได้ ก่อนหน้านี้มีการตรวจเชื้อซีโรไวรัสในสัตว์มาแล้วกว่า 12 ปี โดยทำการตรวจหาไวรัสและแอนติบอดีในสัตว์ป่าจำพวกค้างคาว 699 ตัวและในลิงไพรเมต 50 ตัวเพื่อติดตามการติดเชื้ออีโบลา โดยดูจากการปรากฎของอาร์เอ็นเอไวรัส หากพบแปลว่าสัตว์ป่าเหล่านั้นมีการติดเชื้ออีโบลา แต่ถ้าหากไม่พบอาร์เอ็นเอไวรัสก็สามารถวางใจได้ระดับหนึ่งว่าสัตว์ป่าที่ตรวจไม่มีการติดเชื้อ
ทว่าในสถานการณ์ขณะนี้ ศ.นพ.ธีรวัฒน์ระบุว่าไม่สามารถบอกได้เลยว่าเชื้อมีการแพร่กระจายไปถึงไหน มีแหล่งข่าวรายงานพบการติดเชื้อของค้างคาวบังคลาเทศ ซึ่งมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับค้างคาวที่พบในไทย หากโชคไม่ดีมีการพลัดถิ่น ค้างคาวไทยก็อาจกลายเป็นตัวแพร่กระจายโรคอีโบลาได้ซึ่งสัตว์จำพวกวัว ควาย ลิงและหมูก็อาจติดเชื้อโรคนี้ได้หากมีการสัมผัสสารคัดหลั่งจากค้างคาวตัวที่มีเชื้ออีโบลาอยู่
สำหรับมาตรการการป้องกันการติดเชื้ออีโบลานั้น ศ.นพ.ธีรวัฒน์ระบุว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้วางแบบแผน และมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถศึกษาได้จากคู่มือ "แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคอีโบลาประเทศไทย 2557 จัดทำโดยสำนักระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข" ซึ่งภายในจะบอกมาตรการการตรวจคัดกรอง หลักเกณฑ์การสงสัยผู้ติดโรค แนวทางในการดำเนินงานต่างๆ
"ไวรัสอีโบลาจะเข้าแบ่งตัวในเม็ดเลือดขาว และเข้าไปอยู่อาศัยในเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลง นอกจากนั้นยังเข้าไปติดเชื้อในผนังหลอดเลือดทำให้เกิดอาการเลือดออกในผิวหนัง รายที่มีอาการมากอาจพบอาการเลือดตกในตา ตับและไตวาย เสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ โดยเชื้อจะมากน้อยขึ้นกับระยะที่เป็นจะออกมาทางสารคัดหลั่งพวกเลือด อสุจิ น้ำนม น้ำในช่องคลอด เหงื่อ น้ำลาย" ศ.นพ.ธีรวัฒน์กล่าว
*******************************
*******************************