เชียงราย - คนเชียงรายได้เฮหลัง คสช.อนุมัติให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 ตามหลัง 5 จว.นำร่อง พร้อมไฟเขียวสร้างรถไฟทางคู่ “เชียงของ-เด่นชัย” เชื่อมจีน-ลาว-ไทย ยันมาเลย์
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.เชียงราย ครั้งล่าสุดที่ห้องประชุมดอยตุง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น พบว่า มีนายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ประจำนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สป.จีน, นายภิญโญ จันทร์มหา ผู้อำนวยการศูนย์วางแผนและพัฒนาโครงการฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย, นายจักรกฤช ธรรมศิริ รองผู้จัดการโครงการศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ, รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมด้วย
นายนักปราชญ์ ไชยยานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงราย ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า กรณี คสช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ให้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด คือ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.อุบลราชธานี ชายแดนด้าน จ.ตราด ชายแดนด้าน จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา จ.สงขลา พร้อมกำหนดเริ่มให้มีการพัฒนาตั้งแต่ปี 2557-2558 นั้น
ล่าสุด คสช.ได้กำหนดให้ จ.เชียงราย พร้อมด้วย จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดที่จะได้รับการพัฒนาในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการศึกษาและเก็บข้อมูล ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)
นายจักรกฤชกล่าวว่า เชียงรายโชคดีที่เป็นกลุ่มจังหวัดที่จะพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในเฟส 2 เพราะจะได้รับทราบปัญหาจากกลุ่มจังหวัดแรกๆ และสามารถใช้เป็นข้อศึกษาได้อย่างละเอียดมากขึ้น
คณะจะเริ่มลงพื้นที่ จ.เชียงรายตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 57 เป็นต้นไป เพื่อเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านทุกเรื่องตามนโยบายของ คสช.ที่เน้นให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เริ่มจากการรับฟังความเห็นตั้งแต่กลางดือน ส.ค.-ก.ย. 57 และมีการศึกษาอย่างละเอียดครอบคลุมเรื่องผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วย ส่วนเขตพื้นที่ที่จะจัดตั้งก็จะพิจารณาตามเขตการปกครองคือตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งทำให้ง่ายขึ้นอีก
“จะใช้ระยะเวลาศึกษาที่ จ.เชียงราย เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจะนำผลมาแจ้งให้คนในพื้นที่ได้รับทราบเพื่อหารือกันนำเสนอต่อ กนพ.และ คสช.ตามขั้นตอนต่อไป”
ขณะที่โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชียงของ-เด่นชัย ที่มีการผลักดันกันมานานนั้น ล่าสุด คสช.ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการพัฒนาเป็นระบบรถไฟทางคู่ในอนาคต โดยใช้ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standgard Gauge) รถไฟขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ความเร็ว 160 กม./ชม. เป็น 1 ใน 2 โครงการ ในระยะเร่งด่วนแล้ว
โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิมมาศึกษาทบทวนเพื่อต่อยอดการออกแบบให้สัมพันธ์กับแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงจากจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย
นอกจากนี้ ที่ประชุม กรอ.เชียงรายครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งแลนด์มาร์กของ จ.เชียงราย เบื้องต้นกำหนดใช้สถานที่ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง ก่อนถึงวัดร่องขุ่น เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และทางนายวิรุณ คำภิโล ที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงราย แจ้งว่า หอการค้า จ.เชียงรายจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมหอการค้าทั่วประเทศในวันที่ 21-23 พ.ย.นี้ที่ มฟล. คาดว่าจะมีผู้เข้าไปร่วมงานทุกฝ่ายประมาณ 4,500-5,000 คน