xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสรุปลงทุน2.4ล้านล.เล็งชงคสช.สิ้นมิ.ย.เคาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “คลัง - คมนาคม” เร่งสรุปแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ชี้แบ่งเป็น 3 ระยะวงเงินไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท ฝ่ายเศรษฐกิจคสช.สั่งปี 58 ต้องเดินหน้าได้จริงทั้งรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางและรถไฟฟ้าชานเมือง 3 สาย ส่วนเงินกู้เน้นกู้แบงก์แบบเทอมโลน 3 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงบประมาณและกระทรวงคมนาคมเพื่อรายงานต่อพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก.ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นขณะนี้ข้อสรุปกว่า 90% แล้วโดยเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วนปีงบประมาณ 2558 ระยะกลาง คือการลงทุนในปี 2559-2560 ละยะยาวตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยส่วนของวงเงินจะไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากชะลอโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไปก่อน

สำหรับการใช้เงินนั้นระยะแรกจะใช้เงินงบประมาณที่จัดสรรโดยสำนักงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งทางคสช.ได้กำชับให้จัดสรรให้โครงการที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที ไม่ใช่ให้โครงการที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือยังไม่เริ่มต้นดำเนินการใดๆ ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าชานเมืองนั้นทางคสช.เห็นด้วยให้เดินหน้าทันทีทั้งสายสีส้ม ชมพูและเหลือง รวมทั้งโครงการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอไป 5 เส้นทางแต่มีที่พร้อมดำเนินการได้จริงเพียง 2 เส้นทางเท่านั้น พร้อมทั้งกำชับว่าในปีแรกต้องมีความคืบหน้าของโครงการหลังจากที่ได้รับงบไปแล้วโดยจะมีคณะทำงานติดตามเป็นระยะๆ รวมทั้งขอให้ใช้งบอย่างโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดปัญหาคอรัปชั่นลง

“ในปีงบประมาณ 2558 จะมีส่วนของงบลงทุนประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาททางสำนักงบประมาณจึงต้องจัดสรรให้โครงการที่จำเป็นจริงๆ เพราะเป็นการลงทุนทั้งของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงสามารถจัดสรรงบในปีแรกได้ไม่มากแต่สำนักงบฯ ยืนยันจะให้เป็นงบผูกพันไปในปี 2559-2560 เพราะนอกจากใช้งบประมาณแล้วเสต็ปต่อไปก็จะใช้เงินกู้และสุดท้ายก็จะเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนหรือการทำพีพีพี” แหล่งข่าวกล่าวและว่า โครงการที่ยังไม่ได้ข้อยุติขณะนี้คือโครงการที่ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนและสำนักงบฯ ไม่สามารถจัดสรรงบให้ รวมทั้งหากใช้เงินกู้ก็จะมีความเสี่ยงเพราะเป็นโครงการที่มีวงเงินสูงจึงต้องเสนอให้หัวหน้าคสช.ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินนั้นทางคสช.ยังไม่ได้มอบหมายนโยบายอะไรมา ซึ่งทางสบน.คงดำเนินการกู้เงินตามปกติ และหากเป็นโครงการลงทุนใหญ่ก็จะใช้วิธีกู้แบบเทมอโลนระยะ 3 ปีเหมือนการกู้เงินมาใช้จำนำข้าวทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงด้านภาระต้นทุนน้อยที่สุด เนื่องจากจะเสียดอกเบี้ยต่อเมื่อมีการเบิกเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ส่วนของการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณก็จะเป็นการออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลังแทน

ทั้งนี้ การระดมเงินจากตลาดเงินในช่วงที่ คสช.บริหารประเทศก็อาจจะมีผลต่อการเสนอตัวให้กู้ของแบงก์ต่างชาติบางแห่งเช่นจากสหรัฐและยุโรปเพราะเป็นกฎระเบียบที่ห้ามให้กู้กับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะสามารถระดมเงินจากแบงก์ไทยและแบงก์ญี่ปุ่นที่พร้อมเสนอตัวให้กู้กับกระทรวงการคลังอยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น