xs
xsm
sm
md
lg

นักชีววิทยาระบุ “สะพานข้ามป่า” คือความหวังสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุโมงค์ชนิดตัดแล้วถมกลับ (Cut and Cover Tunnel)
เมื่อการพัฒนาทำให้ผืนป่าต้องแยก ทางหลวงหมายเลข 304 ที่มีการตัดผ่านผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่-ทับลาน กำลังจะถูกขยายจาก 2 เลนเป็น 4เลน การแก้ปัญหาป่ารอยต่อด้วยคอร์ริดอร์ หรือ สะพานเชื่อมป่าอาจเป็นความหวังที่ดีที่สุดของนักอนุรักษ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติให้มีการขยายถนนหมายเลข 304 จาก 2 เลนเพิ่มเป็น 4 เลนเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุ ลดเวลาในการขนส่งจากภาคอีสานสู่ท่าเรือ และนิคมอุตสาหากรรมในภาคตะวันออก ซึ่งปัญหาอยู่ที่ถนนหมายเลข 304 นั้น เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านระหว่างผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เปรียบเสมือนบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด ทำให้เกิดผลกระทบกับสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น การแก้ไขปัญหาการเบียดเบียนที่อยู่และเส้นทางเดินของสัตว์ป่า แลปัญหาผืนป่าแยกจากกัน จึงต้องมีการเข้ามาดูแลแก้ไขด้วยโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ในช่วงที่ 42-47 ซึ่งตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อรองรับการตัดถนนเพิ่มจาก 2 เลนเป็น 4 เลน เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเนื่องจากถนนมีลักษณะเป็นแคบเป็นคอขวด ซึ่งการตัดถนนเพิ่มนั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง ทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างป่า หรือการแยกกันของผืนป่าทำให้สัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่ป่าทั้ง 2 บริเวณไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่ หรือการย้ายถิ่นที่ทำได้ลำบาก หรือที่แย่ไปกว่านั้นอาจถูกรถชนจนทำให้สัตว์ป่าล้มตาย หรือบาดเจ็บได้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างสะพานข้ามป่าเพื่อลดปัญหาเหล่านี้

อ.ดร.ธงชัย งามประเสริฐวงศ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สะพานเชื่อมป่าในไทยจริงๆ ยังไม่มีเป็นกิจจะลักษณะ แต่มีโครงการจะทำมานานแล้วที่เขาใหญ่ การทำสะพานเชื่อมป่าไม่ได้ช่วยเรื่องการบุกรุกให้น้อยลงแต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากทางด้านการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เพราะการตัดถนนผ่านเส้นทางป่าจะทำให้เกิดช่องว่างที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ซึ่งปกติแล้วโดยสัตว์เล็กจะไม่เดินข้ามถนน แต่จะใช้วิธีในการปีนป่ายไปตามเรือนยอดต้นไม้ เช่น ลิงและชะนี เป็นต้น

การตัดถนนผ่านป่าโดยเฉพาะถนนที่มีหลายๆ เลนจะทำให้เรือนยอดของต้นไม้อยู่ห่างกันมากขึ้น จนสัตว์เล็กไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังอีกฝั่งอันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร และในส่วนของสัตว์ใหญ่ที่แม้จะสามารถเดินข้ามถนนได้ปกติ แต่ อ.ดร.ธงชัย ระบุว่าก็ต้องเสี่ยงต่ออันตรายและการคุกคามจากนายพราน หรือนายทุนค้าสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น ในเมื่อการสร้างถนนจำเป็นต้องดำเนินไปและไม่สามารถหยุดได้ การสร้างสะพานเชื่อมป่าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การสร้างนั้นต้องทำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะสร้าง และต้องทำให้เพียงพอ

“โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการสร้างสะพานข้ามป่า เพราะการสร้างถนนจริงซัก 5 เมตรอาจกินพื้นที่ป่าและตัดไม้ไปถึง 10 เมตร เพราะการตั้งที่อยู่อาศัยของคนงานและเครื่องจักรต่างๆคงไม่หยุดอยู่แค่ตรงนั้น สำคัญที่สุดคือ การสร้างสะพานข้ามป่าให้มีลักษณะที่เหมาะสมและเพียงพอ ไม่ใช่ตัดถนน 5 กิโลเมตรแต่สร้างสะพานเชื่อมป่าแค่ 200 เมตร” อ.ดร.ธงชัย กล่าว

ทางด้านของ อ.ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา ห้องปฏิบัติการวิจัยนิเวศวิทยาเขตร้อน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ในแง่ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นักการเมืองและนักอนุรักษ์ มักจะมองต่างมุมกัน อย่างไรก็ตาม กรณีขยายถนนนี้ เมื่อต้องทำ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการสะพานข้ามป่าขึ้น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะจะช่วยลดช่องวางระหว่างแนวขอบป่า 2 บริเวณ อย่างน้อยสัตว์ป่าก็สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้

“ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงและต้องตระหนักอย่างมากคือ การลักลอบล่าสัตว์อยีางผิดกฏหมายโดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุน เพราะการสร้างสะพานข้ามป่านั้นเป็นเหมือนสถานที่ๆที่ทุกคนทราบว่าสัตว์ป่าจะต้องเดินผ่านบริเวณนี้ หากมีการสร้างสะพานข้ามป่าแต่มาตรการการป้องกันการค้าสัตว์ป่ารัดกุมไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดการลักลอบล่าสุดเพิ่มขึ้น เพราะการซุ่มจับสัตว์ป่าอาจทำได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อตรวจสอบบริเวณสะพานข้ามป่าและการเพิ่มบทลงโทษจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป” ดร.พงษ์ชัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

โดยถนนบริเวณถนนหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 42-47 จะเป็นบริเวณแรกที่มีการสร้างสะพานข้ามป่า เพราะถือว่าเป็นบริเวณที่มีความเหมาะสม เพราะห่างไกลจากชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ แหล่งอาหารและเป็นบริเวณที่เป็นคอขวดมีพื้นที่ป่า 2 บริเวณอยู่ใกล้กันมากที่สุด โดยสะพานข้ามป่าในบริเวณนี้จะจัดทำขึ้นในรูปแบบอุโมงค์ชนิดตัดดินแล้วถมกลับ (cut and cover tunnel) โดยเป็นการฝังอุโมงค์ให้รถวิ่งทางด้านล่าง และให้สัตว์เดินในพื้นที่เขาด้านบน ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า โดยกรมทางหลวงเตรียมขออนุมัติงบประมาณปี 58 เป็นเงินประมาณกว่า 2,900ล้านบาท

Instagram








กำลังโหลดความคิดเห็น