ชม 5 ผลงานนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยในงาน IPITEx 2014
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงาน IP INNOVATION AND TECHNOLOGY EXPO 2014 (IPITEx 2014) เป็นครั้งแรกของไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.57 เวลา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา Hall 103-105
ภายในงานรวมผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการลงทุนและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของไทย มีการจัดแสดงผลงานกว่า 200 ผลงาน ใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ กลุ่มยางและไม้ยางพารา กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มเครื่องจักรกลเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ กลุ่มซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มทรัพย์สินทางปัญญารวมไปถึงนิทรรศการแสดงผลงานทรัพย์สินทางปัญญาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์
จากผลงานที่น่าสนใจมากมาย ทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์อาสาพาไปดูบรรยากาศ และทำความรู้จักกับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจบางส่วน
ผลงานแรกจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "นวัตกรรมเจิร์มการ์ดผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์เคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด" ที่นำสารสกัดจากเปลือกชั้นในของมังคุดที่ชื่อว่า แซนโทน (Xanthone) มาใช้ผสมผสานในการใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งหน้ากากอนามัย แผ่นกรองอากาศ แผ่นปิดสิว พลาสเตอร์ปิดแผล แผ่นปิดผิวหนังและน้ำยาทาแผล โดยแซนโทนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา อาทิ H2N1 เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจ เชื้อก่อโรคระบบเยื่อหุ้มสมอง เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผสมผสานกับธรรมชาติที่นอกจากป้องกันเชื้อโรคได้แล้ว ยังฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย
อีกผลงานที่น่าสนใจคืออุปกรณ์ตรวจวัดความง่วงแบบพกพา "AlertZ" ผลงานจาก เจษฎา อานิล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อุปกรณ์ตรวจความง่วงที่อาศัยเทคนิคการตรวจวัดสัญญาณสมอง แล้วนำมาประมวลผลเป็นเสียงสัญญาณเตือน
อุปกรณ์ดังกล่าวมี 2 ชิ้นคือ หมวกติดตั้งอิเล็กโทรดสำหรับตรวจวัดสัญญาณสมอง ที่จะส่งสัญญาณไปยังตัวกล่องตรวจวัดสัญญาณสมอง ที่จะมีแสงไฟและเสียงเตือนเมื่อผู้ขับขี่มีอาการง่วงนอน อุปกรณ์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องขับรถเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะพนักงานขับรถขนส่งมวลชนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหลับใน
"ในอนาคตเราตั้งใจจะทำให้เหลืออุปกรณ์เพียงแค่ชิ้นเดียวคือหมวก ที่จะเป็นทั้งตัวรับสัญญาณและตัวส่งสัญญาณเตือน ซึ่งนอกจากจะส่งเสียงได้แล้ว เราจะทำให้มีระบบสั่นเพิ่มขึ้นด้วย" เจษฎาเผยแก่ทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ผลงานถัดมาคือเครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยสนามไฟฟ้าโคโรนา (STI Cleaner) โดย ผศ.ดร.ศิศีโรตม์ เกตุแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของผลงานกล่าวว่า เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วยสนามไฟฟ้าโคโรนาสามารถกำจัดกลิ่นเหม็นได้ 100% ภายใน 30 นาที ด้วยการทำงานของสนามไฟฟ้าโคโรนา (Electric field Corona) ที่เป็นการผลิตก๊าซที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีคือโอโซน
"โดยกลิ่นก๊าซที่ผลิตได้จะคล้ายๆ กลิ่นชายทะเล โดยจะผลิตก๊าซออกมาที่ความเข้มข้นพอเหมาะ สำหรับกำจัดกลิ่นเหม็นภายในห้องที่มีขนาด 12x35x25 ตารางเมตร โดยทั่วไปกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นจะเกิดจากกลิ่นที่แบคทีเรียสร้างขึ้น และก๊าซพิษเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย เป็นต้น ซึ่งกลิ่นเหล่านี้โอโซนสามารถกำจัดให้หมดไปได้ ซึ่งแตกต่างตรงที่เป็นการกำจัดกลิ่นไม่ใช่การกลบกลิ่นเหมือนสเปรย์ปรับอากาศทั่วไป" ผศ.ดร.ศิศีโรตม์กล่าว
มาถึงเทคโนโลยีการเคลือบสระกักเก็บน้ำด้วยน้ำยางธรรมชาติ โดยภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยียางพาราในรูปแผ่นฟิล์มสำหรับใช้รองสระกักเก็บน้ำ ที่แต่เดิมการขุดบ่อกักเก็บน้ำจำเป็นต้องใช้แผ่นพลาสติกรองที่ก้นบ่อเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมออก แต่เนื่องจากพลาสติกมีอายุการใช้งานที่สั้นประมาณ 3 ปีทำให้ต้องเปลี่ยนแผ่นรองก้นบ่อยๆ เป็นปัญหาทางด้านงบประมาณ จึงมีการริเริ่มเทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าใบขึ้น
ทีมวิจัยพบว่าเมื่อเทียบระหว่างพลาสติกและยางพารา การลงทุนทางด้านอุปกรณ์และเครื่องจักรของยางพาราใช้ทุนที่น้อยกว่า สามารถประยุกต์ใช้กับขนาดและรูปทรงของสระน้ำได้หลากหลาย อีกทั้งยางพารายังมีอายุอยู่ได้นานกว่าที่ประมาณ 10 ปี โดยการใช้ผ้าใบด้ายดิบจำนวน 1-2 ชั้นวางที่ชั้นล่างสุด จากนั้นทาหรือพ่นทับด้วยน้ำยางคอมพาวด์รอให้ยางแห้งประมาณ 3 วันแล้วจึงปล่อยน้ำลงบ่อได้
ผลงานสุดท้ายดูเหมือนเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดภายในงาน IPITEx 2014 คือนวัตกรรมยานยนต์ล้อหุ้มเกราะ จากบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ที่ได้รับรางวัลออกแบบดีเยี่ยม จากกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นยานยนต์หุ้มเกราะฝีมือคนไทยที่พัฒนาขึ้น
"ยานยนต์ล้อหุ้มเกราะคันนี้เรามีหลักการสร้าง 3 ข้อด้วยกัน คือสมรรถนะ การป้องกันระเบิดและความสะดวกสบายของคนนั่ง รถคันนี้จะแตกต่างจากรถหุ้มเกราะทหารทั่วไป มีขนาดใหญ่และรูปทรงที่ทันสมัยทรงพลังมากกว่า สามารถป้องกันระเบิดที่ใช้ในทางภาคใต้ได้ ทางด้านล้อเราได้พัฒนายางหุ้มเกราะให้เป็นแบบใหม่ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนหรือกำลังของรถดีขึ้น โดยยางจะเป็นยาง 2 ชั้น ตัวถังรถจะถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงที่ปลอดภัยเมื่อเกิดระเบิด เพราะจะป้องกันทั้งผู้โดยสารและห้องเครื่อง ทำให้เมื่อเกิดเหตุระเบิดรถจะยังสามารถวิ่งต่อไปได้ ภายในห้องโดยสารมี 11 ที่นั่งที่ออกแบบมาพอดีกับทหาร 1 หน่วยที่ค่อนข้างสะดวกสบายกว่ารถหุ้มเกราะรุ่นเก่า" นายกฤต กุลหิรัญ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยให้ผู้สนใจได้ซื้อกลับไปทดลองใช้อีกด้วย