เผยผลวิเคราะห์อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด 6 เดือนหลังน้ำมันรั่วในอ่าวไทย เผยปะการังฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแอ ปูทหารกลับมาเท่าตัว แต่ยังไม่ปกติ คาดใช้เวลาราว 7 ปี ใกล้เคียงเหตุการณ์น้ำมันรั่วในฟิลิปปินส์
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมอาจารย์ในภาควิชา เผยผลสำรวจหลังเฝ้าติดตามระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทยเมื่อเดือน ส.ค.56 ที่ผ่านมา
ผลจากการศึกษาและเก็บตัวอย่าง 40 จุดรอบอ่าวพร้าว โดยเก็บตัวอย่างจาก “จุดศึกษาถาวร” ที่กำหนดจุดเก็บตัวอย่างเป็นวงกลม พบว่าในช่วง 20 วันแรกมีปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จากนั้นกลับเป็นตัวอย่างที่วงเดิมในความถี่ 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ และทิ้งระยะความถี่ รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 6 ครั้ง
ในช่วงแรกหลังน้ำมันรั่ว ดร.ธรณ์ ระบุว่า มีปะการังฟอกขาวมากกว่า 50% แต่การฟอกขาวต่างจากการฟอกขาว เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นที่พบเป็นปกติในไทย โดยการฟอกขาวจากน้ำมันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันใน 3-4 วัน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า ในขณะที่การฟอกตัวจากอุณหภูมิน้ำสูงเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า อาจนาน 1-2 ปี
“แม้ปะการังฟอกขาวจากน้ำมันจะฟื้นตัวแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าปกติ ยังพบโรคและความอ่อนแอของปะการัง ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ต้องกลับไปเช็กปะการัง ทำต่อเนื่องไปอย่างน้อย 1 ปี และหวังว่าจะทำให้ได้ถึง 3 ปีด้วย เพราะยังแสดงอาการอ่อนแอ และน้ำทะเลมีอุณหภูมิผิดปกติ ช่วงนี้อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ แต่ช่วง พ.ค.-มิ.ย. อุณหภูมิอาจสูงขึ้นเหมือนเมื่อปี '40 อาจจะเกิดการฟอกขาวขึ้นมาอีก” ดร.ธรณ์กล่าว
พร้อมกันนี้ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลเผยว่า “ปูทหาร” ที่เป็นดัชนีชี้วัดความปกติของหาดทรายกลับเพิ่มขึ้นมาเท่าตัว โดยปกติที่อ่าวพร้าวจะพบปูดังกล่าว 80 ตัวต่อตารางเมตร แต่หลังน้ำมันรั่วก็หายไป และตอนนี้พบว่าเพิ่มกลับมาเป็น 40 ตัวต่อตารางเมตร
สำหรับการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งบนหาดทราย ในน้ำทะเลซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือผิวน้ำทะเล กลางน้ำทะเล และพื้นน้ำทะเล เพื่อดูปริมาณการปนเปื้อนของสารไฮโดรคาร์บอน ทีมวิจัยพบว่า ช่วง 2 เดือนแรก ปริมาณไฮโดรคาร์บอนสูง จากนั้นลดต่ำลง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าปกติหรือยัง
ด้าน รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มก.เผยตัวเลขปริมาณไฮโดรคาร์บอนที่ปนเปื้อนในน้ำและในดินบริเวณอ่าวพร้าวว่า ในน้ำที่พื้นทะเลมี 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร และในน้ำทะเล 0.2 ไมโครกรัมลิตร ส่วนในดินทางทิศเหนือของอ่าวมี 2.5 ไมโครกรัมต่อกรัม ตอนกลาง 1 ไมโครกรัมต่อกรัม และตอนใต้ 0.7 ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วนชายฝั่งห่างทะเล 1 กิโลเมตรมี 0.2-0.3 ไมโครกรัมต่อกรัม
ทั้งนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนลดลงถึงระดับปกติหรือยัง ซึ่ง ดร.ธรณ์ชี้ว่า เป็นเพราะไทยยังไม่มีมาตรฐานการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดิน ซึ่งอยากเรียกร้องให้มีมาตรฐานตรงนี้
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.เชษฐพงษ์ กล่าวว่า สารที่อันตรายในไฮโดรคาร์บอนคือ PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยผลการวิเคราะห์สารดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะได้ผลวิเคราะห์ในอีก 1 เดือน
สำหรับการฟื้นตัวของอ่าวพร้าวและพื้นที่รอบเกาะเสม็ดนั้น ทีมวิจัยเทียบเคียงกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วในฟิลิปปินส์ ที่อุณหภูมิน้ำสูงใกล้เคียงทะเลไทย ซึ่งจะมีการย่อยสลายของน้ำมันโดยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ คาดว่าคงใช้เวลาราว 7 ปี จึงฟื้นตัวใกล้เคียงปกติ ขณะที่กรณีน้ำมันรั่วในอลาสก้านั้นอุณหภูมิน้ำเย็นจัดจนน้ำมันกลายเป็นน้ำแข็ง และไม่สามารถย่อยสลายได้ แม้ผ่านมา 21 ปีแล้วจึงยังไม่ฟื้นตัว
พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยระบุว่าระดับไฮโดรคาร์บอนในน้ำและอาหารทะเลยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย สามารถลงเล่นและบริโภคได้ แต่ทีมวิจัยยังคงเฝ้าระวังและศึกษาการเก็บตัวอย่างหอย ซึ่งเป็นสัตว์ที่กรองทุกอย่างเข้าตัว หากพบข้อมูลว่าหอยสะสมสารพิษจนถึงระดับที่ไม่ปลอดภัยให้บริโภค ทางทีมวิจัยจะรีบแจ้งข่าวให้ประชาชนทราบ