xs
xsm
sm
md
lg

6 เดือนน้ำมันรั่ว “อ่าวพร้าว” เริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่เหมือนเดิม ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พร้อมทีมนักวิจัยเฉพาะด้านเผยผลสำรวจหลังเฝ้าติดตามระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าวจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วอย่างต่อเนื่องกว่า 6 เดือน เผยสภาพแวดล้อมยังไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง พบปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนลดลงจากเดิม ปะการังฟื้นตัวและมีสภาพฟอกขาวน้อยลง สัตว์น้ำเริ่มกลับเข้าสู่พื้นที่ ผลวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยจากญี่ปุ่นไม่พบสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ นักวิชาการแนะยังไม่จำเป็นต้องฟื้นฟู ควรให้พ้น 1 ปีไปก่อน

วันนี้ (5 มี.ค.57) เวลาประมาณ 10.00 น. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ทางภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทีมคณาจารย์และนักวิจัย ทำการสำรวจ เก็บข้อมูล และเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล และระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน พบว่ามีปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่สะสมอยู่ในทรายที่อ่าวพร้าวนั้นมีปริมาณลดลง ปะการังฟื้นตัวจากภาวะฟอกขาวเฉียบพลันมากขึ้น ในส่วนของสัตว์น้ำนั้นยังอยู่ในสภาวะปกติ และเริ่มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากในช่วงแรก
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การศึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริเวณจุดเกิดเหตุและชายฝั่งมาบตาพุด ไปจนถึงอ่าวบ้านเพและแหลมแม่พิมพ์ ตลอดทั้งแนวที่คราบน้ำมันไหลผ่านกว่า 40 จุด พบว่าปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในช่วงแรกสูง โดยเฉพาะอ่าวพร้าวยังสูงอยู่ในช่วง 2 - 3 เดือน ก่อนเริ่มลดลงตามลำดับทั้งไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำและที่สะสมในดินตะกอน อย่างไรก็ตามคณะนักวิจัยสรุปว่า คุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณอ่าวพร้าวยังจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป และไม่แนะนำให้มีการทำกิจกรรมทำความสะอาดคราบน้ำมันเพิ่มเติม เพราะอาจทำให้ตะกอนน้ำมันฟุ้ง และส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ได้

ในส่วนของการสำรวจปลาในแนวปะการังอ่าวพร้าว โดยเปรียบเทียบจากพื้นที่อ้างอิง ไม่พบความผิดปกติของปลา และเมื่อนำตัวอย่างปลาไปวิเคราะห์ร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่น พบว่าไม่มีการสะสมที่อาจเป็นพิษต่อมนุษย์ (PAHs) มากเกินระดับมาตรฐานที่กำหนดโดย EU

ด้าน รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะยังไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ การแก้ปัญหาตามหลักสากลเรื่องผลกระทบจากคราบน้ำมัน ต้องเน้นการเฝ้าระวังและติดตามในระยะยาว โดยใช้หลัก 1-3-7 ปี ที่นิยมใช้กันในประเทศเขตร้อน สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับเฝ้าระวังและติดตามความเปลี่ยนแปลงด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมตามแผนที่วางไว้ แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ควรรอให้ผ่าน 1 ปีไปก่อน นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีการศึกษาการสะสมของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในดินตะกอนให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถกำหนดมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีการขนส่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปิโตรเลียมมากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น