xs
xsm
sm
md
lg

10 ปี “สึนามิ” คลื่นยักษ์ผลักดันอันดามันสู่มรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา
26 ธ.ค. 2547 เป็นวันธรรมดาๆ ที่กลายเป็นวันแห่งความเศร้าสลด เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับประเทศตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย พม่า รวมถึงจังหวัดตามชายฝั่งทะเลอันดามันในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยรู้จักกับ “สึนามิ” อย่างถ่องแท้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียด้วยชีวิตผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายพันคน แลกด้วยความเสียหายของบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ถูกคลื่นยักษ์พัดถล่มย่อยยับ
เรือประมงที่ถูกคลื่นยักษ์ซัดขึ้นมา ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม
ไม่เพียงเท่านั้น ความเสียหายในครั้งนั้นยังรวมถึงแนวปะการังใต้ทะเลที่ถูกคลื่นยักษ์พัดทำลาย ไม่ว่าจะเป็นที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งแนวปะการังของทั้งสองแห่งได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และที่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และเกาะเหล่านี้ก็ล้วนเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังยอดนิยมของไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวทะเลไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปีอีกด้วย

หลังจาก 10 ปี ผ่านไป ทะเลไทยเป็นอย่างไร และสึนามิก่อให้เกิความเปลี่ยนแปลงกับทะเลไทยอย่างไรบ้าง...
10 ปีหลังสึนามิ ความงามของอ่าวช่องขาดกับหาดหินหัวไก่ บนเกาะสุรินทร์ จ.พังงา ยังคงอยู่
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลไทยหลังจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ว่า

“หลังจากเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 ก็มีการสำรวจทะเลร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ มีการสำรวจทะเลและแนวปะการัง หลังจากสึนามิก็มีความเสียหายพอสมควรในบางพื้นที่ เช่นหมู่เกาะสุรินทร์ เกาะพีพี เกาะอาดังราวี ในเรื่องแนวปะการังที่เสียหายเยอะหน่อยก็คือหมู่เกาะสุรินทร์ เราก็มีโครงการในการฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยวขั้นต้น คือการสร้างแหล่งดำน้ำเทียม ประติมากรรมใต้น้ำ ทำกันอยู่ปีกว่าก็มีคนไปดำน้ำพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปประติมากรรมใต้น้ำมันก็เสื่อมโทรมไป เพราะทำจากปูน เสียหายจนเกือบหมด”
เด็กน้อยนักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลที่หมู่เกาะสุรินทร์
“เวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องทรัพยากร ก็มีการฟื้นตัวบ้างบางอย่าง แต่ในภาพรวมก็บอกได้ว่ามันยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรเพราะมันได้รับผลกระทบอย่างอื่นด้วย หากถามว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทรัพยากรใต้ทะเลเป็นอย่างไรบ้างก็ต้องบอกตามตรงว่ามันก็มีสภาพเสื่อมโทรมลงบ้าง แต่ไม่ใช่ผลจากสึนามิอย่างเดียว เป็นผลต่อเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเรื่องปะการังฟอกขาวที่เกิดจากโลกร้อน พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่ได้ดีขึ้นไปจากเดิมเลย” ดร.ธรณ์ กล่าว

ไม่เพียงมองความเสียหายของแหล่งปะการังเท่านั้น แต่ ดร.ธรณ์ยังมองความเสียหายในภาพรวมของทะเลอันดามัน ที่เรียกได้ว่า นอกจากจะโดนภัยธรรมชาติสึนามิกระหน่ำแล้ว ทะเลไทยก็ยังต้องเจอมรสุมโลกร้อนและมลพิษน้ำเสียทั้งจากอุตสาหกรรม บ้านเรือน และการท่องเที่ยว ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีเทียบเท่ากับเมื่อก่อน และที่สำคัญก็คือยังไม่มีการจัดการทางทะเลที่ดี ดังที่ ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า

“เรื่องการจัดการของเรา มันแทบจะไม่เปลี่ยนเลย แย่ยังไงก็แย่อย่างนั้น การจัดการของเรายังไม่เป็นระบบ จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลก เพราะการที่อันดามันเป็นมรดกโลกจะช่วยให้เราสามารถจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาพรวมได้ทั้งหมด ไม่ใช่มานั่งแก้ไขปัญหาทีละจุดสองจุด ตรงแนวปะการังนี้คนทิ้งสมอ ตรงนั้นมีเรือลักลอบเข้ามา แก้ทีละอย่างมันไม่มีทาง มันต้องทำทั้งหมดและให้คนเห็นประโยชน์พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวหรือการประมงที่ถูกกฎหมาย และเรื่องการจัดการที่ต้องไปด้วยกันทั้งผืน”
ความงามของอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ยังคงความงามสะกดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ในขณะนี้เมื่อ ดร.ธรณ์ได้เข้ามาเป็นสมาชิก สปช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเป็นโอกาสที่สามารถสร้างแรงผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลกได้มากขึ้น ซึ่งข้อดีของการเป็นมรดกโลกนั้นก็มีตั้งแต่การช่วยสร้างกลไกที่เข้มแข็งและมาตรฐานที่สูงขึ้นในการอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และจะช่วยยกระดับทั้งราคาและคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานก็จะช่วยให้การประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ทางประเทศเมียนมาร์ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนทะเลทางฝั่งอันดามันต่อคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้าประเทศไทยไปแล้ว หากไทยยื่นเรื่องไปด้วยก็มีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการอาจอยากให้ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นมรดกโลกทางทะเลใหญ่ที่สุดในโลก

“10 ปีที่ผ่านมาหลังจากปี 47 การผลักดันมันแทบไม่ขยับเลย ในที่สุดเมื่อมาเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมเพิ่งเสนอเรื่องของการผลักดันให้อันดามันเป็นมรดกโลก เพราะโครงการทุกอย่างจัดไว้หมดแล้ว แต่มันยังค้างเติ่งอยู่มาเป็นปีๆ ไม่ได้ขยับไปไหนเลย เพราะฉะนั้นการจัดการ การฟื้นฟู การอนุรักษ์เต็มรูปแบบมันก็ไม่ขยับ แต่ผมคิดว่าถ้ามันครบ 10 ปีแล้ว และเราสามารถนำเสนออันดามันเป็นมรดกโลกได้ มันก็จะเป็นการยกระดับการอนุรักษ์ทุกอุทยานในทะเลอันดามันทั้ง 17 แห่ง มีการตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่อุทยานและอื่นๆ อีกมาก ทั้งการบำบัดน้ำเสีย มลพิษ การพัฒนาชายฝั่ง การท่องเที่ยวที่มีมากเกินไป การประมงที่ชักจะไร้การควบคุม ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้พร้อมๆ กัน มันจะเป็นการยกระดับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ดร.ธรณ์ กล่าวต่อ
นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาเที่ยวทะเลไทยมากมายที่เกาะพีพีดอน
เมื่อถามว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราได้อะไรจากสึนามิบ้าง ดร.ธรณ์กล่าวว่า “เราได้ความกระตือรือร้นในช่วงแรก ความร่วมมือร่วมใจในช่วงแรก ได้เห็นน้ำใจของคนไทย แต่พอเวลาผ่านไปได้ซักปีสองปี เราก็ลืม 10 ปีสึนามิถามว่าได้อะไร ต้องบอกกันตรงๆ ว่า ได้รู้ว่าคนไทยลืมง่าย 10 ปีที่ผ่านมาการจัดการมันเละ เราพยายามจะบอกว่าเรามีบทเรียนแล้ว เราจะเรียนรู้ตั้งแต่ 10 ปีก่อนแล้ว จะทำนู่นทำนี่ให้เป็นระบบ แต่สุดท้าย 10 ปีผ่านไป เราเรียนรู้ว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่คิดจะยกเครื่องระบบ ไม่ว่าจะมีคลื่นสึนามิหรือไม่มี ทรัพยากรทางทะเลไทยก็เละอยู่ดี ซึ่งตอนนี้ก็เละไปพอสมควรแล้ว และถ้าเละไปกว่านี้ ทั้งการท่องเที่ยวทั้งการประมง หรือใครก็ตามที่ใช้ประโยชน์จากทะเลจะเอาอะไรกิน ถ้าเราไม่คิดเปลี่ยนแปลงตอนนี้ในอนาคตเราแย่แน่”

“มาถึงตอนนี้มันได้จังหวะพอดีกับการปฏิรูป ถึงจังหวะนี้เป็นอีกคลื่นหนึ่ง ไม่ใช่คลื่นสึนามิ แต่เป็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ถ้าเราไม่ทำจังหวะนี้ 10 ปีข้างหน้าการท่องเที่ยวต่างๆ หรือทรัพยากรทั้งหลายในอันดามันคงไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้แน่นอน”

แม้สึนามิที่พัดถล่มมาเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงภาวะโลกร้อนและฝีมือมนุษย์จะสร้างความเสียหายต่อเนื่องให้กับทะเลไทยและแนวปะการังไว้มากมาย แต่ในวันนี้ เรามองเห็นความหวังที่จะพัฒนาทะเลอันดามันที่เคยสวยงามของไทยให้กลับมางดงามดังเดิม และน่าจะงดงามกว่าเดิมได้อีกหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น