อย. เสนอ คสช. ปรับแก้ร่าง กม. 3 ฉบับ “ยา-อาหาร-เครื่องสำอาง” หลังผ่านกฤษฎีกา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติฯ เล็งใช้กลไกเอาท์ซอร์ส ให้องค์กรภายนอกตรวจประเมินคุณภาพอาหาร และการผลิตแทน อย. พร้อมประกาศ GMP คุมเข้มการผลิตเครื่องสำอาง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ของ อย. เสร็จแล้ว 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยา ร่าง พ.ร.บ.อาหาร และ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง จึงได้เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรับการอนุมัติ และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยร่าง พ.ร.บ.ยา จะมีการแยกคณะกรรมการออกเป็น 3 ส่วน คือ คณะกรรมการยาแผนปัจจุบัน คณะกรรมการยาแผนไทย และคณะกรรมการยาสัตว์ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละวงจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ทำให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การเพิกถอนทะเบียนหรือระงับทะเบียนยา จัดทะเบียนยาเก่าที่ไม่มีการใช้หรือขาดข้อมูลความปลอดภัยที่ยังตกค้างอยู่ การทบทวนทะเบียนตำรับยาที่ไม่ปลอดภัย หรือใช้ไปแล้วมีปัญหาระยะหลัง หรือยาที่เลิกใช้ไปแล้วแต่ยังคงมีทะเบียนอยู่ รวมถึงวิธีการขึ้นทะเบียนควบคุมยา การผลิต การจำหน่าย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับโทษให้แรงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่คุ้มครองและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
“การดำเนินการดังกล่าว ต้องอาศัยการเฝ้าระวัง โดย อย. จะมีการสุ่มตรวจโรงพยาบาล ร้านขายยา ติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา และให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศทำรายงานการใช้ยา ว่าตัวไหนใช้แล้วเกิดผลเสียตามมา ซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาต่างกัน ก็ให้ทำการเก็บข้อมูลมาใช้ในการทบทวนทะเบียนตำรับ หรือเพิ่มข้อความคำเตือนในฉลากยา หรืออาจเลิกใช้ยาตัวนั้น เพราะบางทีผลเกิดขึ้นหลังใช้ยาหลาย 10 ปี” เลขาธิการ อย. กล่าว
นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.อาหาร จะแก้บางมาตราเพื่อให้องค์กรอื่นภายนอกดำเนินการบางเรื่องแทน อย. ได้ หรือเป็นกลไกเอาท์ซอร์ส เช่น มอบให้มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานเอกชน สามารถตรวจหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) อาหาร และประเมินเรื่องคุณภาพความปลอดภัยอาหาร ให้แก่ผู้ประกอบการด้านอาหารได้ จากนั้นให้ส่งเอกสารการประเมินผลมายัง อย. ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานของ อย. ลง นอกจากนี้ จะควบคุมการผลิตอาหารตามความเสี่ยงด้วย คือ มีความเสี่ยงมากก็จะเข้าไปควบคุมดูแลมาก เช่น อาหารทารก หรืออาหารที่ต้องมีเทคนิคการผลิตยุ่งยาก อาจมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย เป็นต้น สุดท้ายคือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง จะมีการออกประกาศให้ผู้ประกอบการต้องผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐาน GMP เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยประกาศเป็นกฎหมายบังคับมาก่อน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่