xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกตากแดดเสี่ยงมะเร็ง แค่เรื่องลวง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ออนไลน์สะพัด! ห้ามดื่มน้ำจากขวดพลาสติกตากแดด เก็บหลังรถ เหตุความร้อนทำสารไดออกซินละลาย เสี่ยงเป็นมะเร็ง กรมวิทย์ยันไม่จริง เหตุสารไดออกซินเกิดจากการเผาไหม้ความร้อนสูงเกิน 200 องศาเซลเซียส พร้อมเผยผลตรวจสอบน้ำในขวดพลาสติกตากแดด ไม่พบสารไดออกซิน

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมออนไลน์มีการส่งต่อข่าวให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติกที่เก็บในหลังรถยนต์และจอดกลางแดด เพราะมีโอกาสได้รับสารไดออกซิน จนเกิดมะเร็งได้นั้น จริงๆ แล้ว กลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน ทั้งนี้ สารไดออกซินเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า การสร้างกลุ่มสารไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ ดังนั้น ที่ระบุว่าไดออกซินละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ร้อนๆ เช่น หลังรถยนต์ จึงสรุปได้ว่า ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง แล้วทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสารไดออกซินนั้น ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้

ปัจจุบันขวดพลาสติกขนาดเล็กมีอยู่ 2 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิด PE (พอลิเอทิลีน) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิด PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต) ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น สำหรับขวดบรรจุน้ำ ชนิดเติม ซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20 ลิตรมี 3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก ชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) และขวดพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.อภิชัย กล่าวด้วยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับจากสื่อออนไลน์ก่อน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น