ก.วิทย์-สภาสมาคมวิทย์มอบรางวัลผู้ใช้-ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นมิตร สวล.ย่อยสลายง่าย หวังจุดประกายคนไทยใส่ใจและลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์
สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ผลิตและผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 57 โดย พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู นายก สสวทท. กล่าวว่า สสวทท.และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องการให้ประชาชนตื่นรู้ถึงภัยคุมคามจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อยสลาย ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาขยะมลพิษในอนาคต
“การมอบรางวัลในครั้งนี้จะเป็นแบบอย่างให้ประชาชนหันมาใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมที่หวงแหนธรรมชาติ มากไปกว่านั้นยังเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตให้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและเป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถทางความคิดและการประดิษฐ์ของคนไทย” พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์กล่าว
ในส่วนของ ภก.รศ.ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นายกสภากิติมศักดิ์สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยกลุ่มที่มีปริมาณมากที่สุดคือกลุ่มบรรจุภัณฑ์ การเข้ามากระตุ้นให้ภาคเอกชนผู้ผลิตและผู้ใช้ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหา จึงจัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ผลิตและผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นความตระหนักและเรียกร้องให้ประชาชนหันมาสนใจและใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก โดยจะมีการมอบรางวัลแบ่งออกเป็น 2 สาขาด้วยกันคือ สาขาผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอีกสาขาหนึ่งคือ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปีหน้าจะมีการเพิ่มรางวัลในสาขาผู้สนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายกสภากิตติมศักดิ์ สสวทท.กล่าว
องค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ต้องผ่านเป็นองค์กรที่มีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตตั้งแต่แรกเริ่มจนสุดท้ายที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำได้ สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และมีการลดปริมาณวัตถุดิบลงจากปกติ ซึ่งจากการคัดเลือกจากทั่วประเทศ มี 4 องค์กรที่ได้รับคัดเลือก สาขาผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด และบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และในสาขาผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ บริษัท เนสเล่ (ไทย) จำกัด
น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการบริหารบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บริษัทได้รับรางวัลนี้มา โดยบริษัทมีผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ ภายใต้ชื่อการค้า “เกรซ” (grace) มีกระบวนการผลิตเริ่มต้นด้วยธรรมาติ และกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยใช้เยื่อพืชธรรมชาติ 100% จากชานอ้อย ผักตบชวา กะลาปาล์ม ไมยราพยักษ์และไผ่
"บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตส่วนมากจะเป็นชานอ้อยที่ได้หลังจากกระบวนการคั้นทำน้ำตาลจากโรงงานทำน้ำตาล ซึ่งการใช้ใยธรรมชาติที่เหลือจากอุตสาหกรรมจะดีกว่าการใช้เยื่อไม้โดยตรงที่ได้จากการตัดไม้ โดยตัวผลิตภัณฑ์สามารถบรรจุได้ทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น สามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้โดยไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง และสามารถย่อยสลายด้วยการฝังกลบได้ภายใน 6 สัปดาห์ ซึ่งการทำบรรจุภัณฑ์นี้จะช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรมทำน้ำตาลได้ถึง 3 พันล้านตันต่อปี" น.พ.วีรฉัตรกล่าว
ในส่วนของบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด หรือ SCG Paper โดย นางวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์ออกแบบกล่าวว่า SCG Paper เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของประเทศ ได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการออกแบบที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีมากถึง 45% และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
"ปัจจุบัน SCG Paper มีโรงงานทั่วประเทศ 14 โรงงานและมีลูกค้ากว่า 200 บริษัท ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าโดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะสามารถนำมาใช้ซ้ำและนำมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากผ่านกระบวนการคิดจากผู้ออกแบบมาแล้วทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นและ SCG Paper จะพยายามในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค" นางวรรณากล่าว
นอกจากนี้บริษัทผู้ได้รับรางวัลการผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างบริษัท เนสเล่ (ไทย) จำกัดโดย นายอาณัติ จุลินทร ผู้อำนวยการแผนกน้ำดื่มได้เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า บรรจุภัณฑ์ของเนสเล่ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ในส่วนของน้ำเปล่ามีการลดการใช้พลาสติกลง 20% แต่ขวดยังคงแข็งอยู่ และยังลดขนาดกล่องนมให้เล็กลงแต่ปริมาณนมเท่าเดิม เพื่อลดปริมาณกระดาษ และช่วยให้ขนส่งได้มากขึ้น อีกทั้งยังประหยัดน้ำมันด้วย