“ร่มบ่อสร้าง ” ของดีประจำเมืองเชียงใหม่ที่นอกจากความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ อ.บ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ แต่ด้วยประโยชน์การใช้งานที่ยังมีข้อจำกัด น้ำหนักร่มที่ค่อนข้างหนัก ประกอบกับกลิ่นสีน้ำมันที่อยู่ในขั้นตอนหนึ่งของการทำร่ม ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยจากผู้ซื้อที่ส่วนมากกว่า 70% เป็นชาวต่างประเทศ นาโนเทคโนโลยีจึงกำลังนำเข้ามาใช้เพื่อแก้ปัญหา และตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น
กัณณิกา บัวจีน ผู้บริหารศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ผลิตร่มบ่อสร้างรวมทุกขนาดปีละประมาณ 500,000 คันต่อปี โดยส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและยุโรป คิดเป็น 70% และอีก 30% จำหน่ายในประเทศให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเอกลักษณ์ของร่มบ่อสร้างนั้นอยู่ที่ รูปทรงที่โดดเด่น การวาดลายที่เป็นเอกลักษณ์และขั้นตอนการทำโดยเฉพาะโครงร่มไม้ไผ่ที่ทำด้วยมือทุกชิ้น
“ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้างมีความพยายามในการป้องกันความปลอดภัยให้ผู้บริโภค ผู้ที่ซื้อร่มจากที่ศูนย์ไปจะต้องมั่นใจได้ว่า ร่มจะต้องไม่มีมอดกินไม้ และไม่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากร่มกันฝนจะมีการเคลือบน้ำมันผสมสีลงไปบนผ้าหรือกระดาษที่ใช้บุตัวร่มเพื่อป้องกันน้ำ จึงมีกลิ่นสีติดอยู่ด้วยซึ่งลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มต่างประเทศจะค่อนข้างกังวลในเรื่องของสารตะกั่วตกค้าง ทางศูนย์จึงต้องพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยกันน้ำได้มาแทนที่การใช้น้ำมัน และยังลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะน้ำมันผสมสีที่ใช้มาจากน้ำมันมะเยาหิน ที่ปัจจุบันมีปลูกในไทยน้อยมาก ต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เสียค่าขนส่งค่อนข้างแพง นาโนเทคโนโลยีจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้างสนใจ”
“นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่เราสนใจที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับร่มบ่อสร้าง เมื่อนำตัวผ้าหรือกระดาษที่เคลือบนาโนมาประกอบกับตัวก้านร่ม จะทำให้ร่มมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมในเรื่องการป้องกันการซึมผ่านของน้ำ การเคลือบกันยูวีเพื่อป้องกันสีซีดสีจางและการเสื่อมของเส้นใยภายใต้แสงแดด การเคลือบต้านเชื้อโรคเพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียในกรณีร่มชื้น เพื่อให้ร่มบ่อสร้างเป็นร่มที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงร่มตั้งโชว์เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว และผลพลอยได้จากการเคลือบนาโนจะทำให้ร่มบ่อสร้างไม่มีกลิ่นเหม็นของสีน้ำมันที่อาจมีสารตกค้างจากตะกั่ว ร่มจะมีน้ำหนักเบาลงประมาณ 100 กรัมต่อคัน เพราะไม่ต้องลงยางไม้และสีน้ำมันทับ” กัณณิกาเผย
ผู้บริหารศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง เผยว่าการผลิตร่มยังประหยัดเวลามากกว่าเดิม เพราะการทาสีน้ำมันและยางไม้ต้องอาศัยแดด เพื่อตากให้แห้ง ซึ่งหากลดขั้นตอนนี้ได้จะย่นระยะเวลาได้ 2-3 วัน และช่วยประหยัดค่าแรงในกระบวนการผลิตเพราะใช้เวลาในการทำน้อยลง โดยทางศูนย์จะส่งผ้าหรือกระดาษชิ้นส่วนต่างๆ ไปที่โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือ จ.แพร่ เพื่อทำการเคลือบนาโน จากนั้นจึงค่อยนำผ้านาโนมาประกอบเข้ากับก้านร่มไม่ไผ่ปกติ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองยังไม่มีการนำออกขายสู่ท้องตลาด” กัณณิกา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
“ปัจจุบันกระแสการเปิดกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนกำลังเป็นที่กำลังจะมาถึง การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการสร้างเอกลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ประเทศลาว เวียดนามและพม่า ที่การท่องเที่ยวกำลังคึกคัก ในขณะที่ไทยกลับคงที่ด้วยปัจจัยต่างๆ การทำร่มในลักษณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านก็มีเช่นเดียวกัน แต่เรื่องของการออกแบบและมาตรฐานยังไม่คงที่ ไทยในฐานะผู้ผลิตร่มบ่อสร้างมายาวนานกว่าจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ร่มบ่อสร้างให้มีความโดดเด่น ก้าวกระโดดไปมากกว่าคู่แข่ง และเชื่อว่าเทคโนโลยีนาโนจะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้ร่มบ่อสร้างได้เป็นอย่างดี” กัณณิกาให้ความเห็น
ในส่วนของ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เผยว่า โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือที่ตั้งขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ มีความพร้อมแล้วกว่า 90% และพร้อมที่จะเปิดรับผ้าจากผู้ประกอบการในเดือน ก.ย.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมพื้นบ้าน โดยนำร่องเปิดโรงงานต้นแบบครั้งแรกในประเทศไทยที่ภาคเหนือ เพราะเล็งเห็นว่าภาคเหนือมีงานหัตถกรรมประเภทสิ่งทอจากภูมิปัญญาคนในท้องถิ่นที่มีคุณค่าอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหมและอื่นๆ
“การนำนาโนมาใช้ผสมผสานกับสิ่งทอจะทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นได้ 3-5 เท่า เพราะเทคโนโลยีนาโนจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่คล้ายกับการตกแต่งผ้าให้มีคุณสมบัติพิเศษทางเคมี ทางกายภาพและเชิงกล โดยผ้าที่เคลือบนาโนจะมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นคือ สะท้อนน้ำ ไม่เหม็นอับ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลดความถี่ในการซักและอีกมากมาย ตามแต่สูตรที่นักวิจัยนาโนเทคคิดค้น และนำมาใช้ในการเคลือบพื้นผิวงานจริง ซึ่งโรงงานต้นแบบนี้สามารถให้บริการเคลือบนาโนผ้าได้ใน 2 ลักษณะคือ ผ้าผืน และผ้าชิ้นตัดเย็บสำเร็จ” รองผู้อำนวยการนาโนเทคกล่าว
สำหรับการทำงานของเครื่องเคลือบนาโนแต่ละครั้งสามารถรองรับผ้าได้ 50 กิโลกรัม เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 หลา เทียบเท่ากับอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วไป ซึ่งนอกจากการให้บริการเคลือบนาโนแก่ผู้ประกอบการแล้ว โรงงานต้นแบบยังให้ความช่วยเหลือทางด้านการให้ความรู้ การออกแบบ และการตลาดแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่สนใจ โดยโรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือ จ.แพร่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ นาโนเทค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ (สวทช.) และวิทยาลัยเทคนิคแพร่ ที่ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจชุมชน สถาบันสิ่งทอ ทีซีดีซี และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
ในอนาคต รองผู้อำนวยการนาโนเทคเผยว่าจะขยายโรงงานลักษณะเดียวกันนี้ไปที่ จ.ขอนแก่นอีกด้วย ในโรงงานประกอบไปด้วยเครื่องจักรใหญ่ 6 เครื่องมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เบื้องต้นเปิดให้บริการฟรีแก่ผู้สนใจ แต่ในอนาคตจะคิดราคาเมตรละ 60 บาท โดยผ้าที่เคลือบจะต้องผ่านการตรวจสอบก่อนว่าสามารถเคลือบนาโนได้หรือไม่ ยกเว้นผ้าขนสัตว์หรือผ้าที่ค่อนข้างบอบบางจะไม่สามารถทำได้
“เราต้องการยกระดับมาตรฐานสิ่งทอพื้นบ้าน ด้วยเทคโนโลยีนาโนที่เรามี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน ซึ่งนับเป็นการนำวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์มาเพิ่มมูลค่าให้แก่หัตถอุตสาหกรรมและรักษาวัฒนธรรมที่ดีของภาคเหลือไว้ในชิ้นงานนาโน” ดร.ศิรศักดิ์กล่าวกับทีข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากร่มบ่อสร้างที่มีการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับชิ้นงานแล้ว ดร.ศิรศักดิ์เผยว่า ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีผลงานออกสู่ตลาดโลกได้ให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชิ้นงาน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านผ้าธรรมชาติ ผู้ผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์จากการย้อมสีธรรมชาติด้วยต้นห้อม ผู้ประกอบการร้านผ้าวาดมือร้านบายศรี และผู้ประกอบการบัวผัดแฟคทอรี่ผู้ผลิตพรมส่งออกตลาดโลก ที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้เป็นจุดเด่นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป