รถโดยสารสาธารณะเหล่านี้คิดแต่จะขึ้นราคาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคยปรับปรุงอะไรทั้งสิ้น ทั้งด้านบริการแย่, ปฏิเสธผู้โดยสาร, ขับรถหวาดเสียวไม่มีความปลอดภัย สมควรแล้วหรือที่จะขึ้นราคาในขณะที่การบริการยังแย่เท่าเดิม?
แขวนชีวิตไว้บนเส้นด้ายกับบริการแย่ๆ
หลักจากแก๊สเอ็นจีวีขึ้นราคา ทำให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่และผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมบริการ ขสมก.) ต่างเรียกร้องให้กรมขนส่งทางบกพิจารณาทบทวนปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่หลังจากกระทรวงพลังงานปรับขึ้นแก๊สเอ็นจีวีต่อเนื่อง และให้พิจารณาขึ้นค่ารถโดยสารประจำทางธรรมดาอีก 3 บาท และรถโดยสารปรับอากาศขึ้นอีกระยะละ 3 บาท
จากประเด็นดังกล่าว ทำให้มีคำถามมากมายต่างถาโถมเข้ามา ว่าการที่ขนส่งสาธารณะเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้เนื่องมาจากผลกระทบจากเรื่องของเชื้อเพลิง ดังนั้นนี่คือการปล่อยปละละเลยจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือไม่? และควรจะหันกลับมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
ทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive จึงได้สอบถามไปยัง "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข"ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เธอมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องกลับมาแก้ปัญหาที่ต้นทาง และจัดการระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อน
“ยกตัวอย่างรถแท็กซี่ ที่มีปริมาณที่ไม่น้อยเลย แต่ช่วงเวลาที่ต้องการใช้รถแท็กซี่กลับมีแท็กซี่ไม่พอ แต่ช่วงเวลาที่ปกติก็มีเยอะมากในท้องถนน การบริหารจัดการทั้งปริมาณในช่วงเวลาที่เหมาะสมมันไม่เพียงพอ มันทำให้ประชาชนเป็นรอง ไม่ใช่เป็นเหยื่อผู้บริโภค ทำให้ประสิทธิภาพในการให้บริการของรถแท็กซี่แย่มาก ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในการให้บริการ ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่ดีเลย เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาแก้ที่ระบบตรงนี้ก่อน
จริงๆ แล้วรถแท็กซี่ไม่ได้เป็นทางเลือกที่หนึ่งด้วยซ้ำ ทางเลือกที่ 1 คือรถเมล์ซึ่งขนส่งคนได้มากกว่า และรถเมล์ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือรถร่วมบริการก็ควรที่จะมีมาตรฐานที่ไม่แตกต่างกัน เช่น รถเมล์สาย 8 เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยทั้งๆ ที่เราก็เห็นชัดแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านั่นคือรถอันธพาล แต่ทำไมรถดังกล่าวนี้ถึงดำรงอยู่ได้ โดยที่ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขใดๆ เลย”
ผู้บริโภคต้องทนแบกรับความเสี่ยงในเรื่องของอุบัติเหตุ ความปลอดภัย กับชีวิตและทรัพย์สิน เพราะฉะนั้น รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการจัดระบบขนส่งสาธารณะนี้ก่อนที่จะขึ้นราคาค่าโดยสาร
“นี่คือต้องหันกลับมาวิเคราะห์ว่าจะปล่อยให้ประชาชนแบกรับปัญหาแบบนี้เหรอ ถ้าคุณจัดระบบแบบนี้ทั้งระบบแล้วมาพูดกันว่าต้นทุนมันใช้เท่าไหร่ และอัตราการขนส่งสาธารณะมันควรจะเป็นที่เรตเท่าไหร่ที่มันมีความสมเหตุสมผล คิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ผู้บริโภคก็รับได้ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะมาขอขึ้นราคาโดยที่คุณไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้กับผู้บริโภคเลย
ทั้งตัวผู้ประกอบการและรัฐนะคะ ก่อนที่รัฐจะตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ รัฐต้องหันกลับมาพิจารณาระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบต้องปรับปรุงก่อนที่จะขึ้นราคาค่าโดยสาร และต้องมีระบบประเมินผลและเอาจริงเอาจังในเรื่องของการประเมินผลด้วย เมื่อปรับระบบใหม่แล้วก็จะบริหารในเรื่องของพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ขนส่งสาธารณะแย่ จนติดอันดับโลก!
คนเดินทางในยุคปัจจุบันนี้ยินดีที่จะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หากรถเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากพอ แต่เนื่องด้วยขนส่งสาธารณะในบ้านเรามันแย่ คนส่วนมากเลยแก้ปัญหาโดยการใช้รถส่วนตัว ประเทศไทยจึงขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่รถติดมาก และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงติดอันดับโลก เป็นผลสะท้อนจากการที่บ้านเรามีขนส่งสาธารณะที่ไม่ดี
“ถ้าเรามองในระดับประเทศ รัฐต้องมองว่าอันนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิด ก็คือว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความบกพร่องของการไม่มีประสิทธิภาพของขนส่งสาธารณะนั้น แล้วมาถูกแก้ปัญหาโดยการให้ชาวบ้านมาแก้ปัญหาเองโดยการที่ให้เขาใช้รถส่วนตัวขับ เพราะถ้าเราพูดถึงการสูญเสียในเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงหรือมลพิษที่เกิดขึ้น หรือปริมาณรถที่มันเยอะจนเต็มท้องถนนที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัด
แล้วก็ยิ่งเป็นงูกินหางที่ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงถูกบริโภคที่มากขึ้นด้วย อุปสงค์มากกว่าอุปทานราคามันก็แพงขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาดมาโดยตลอด แล้วมันก็ส่งผลกระทบแบบเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ก็คือว่าอุบัติเหตุสูงมาก การจราจรที่ติดขัด ประเทศไทยก็ติดอันดับโลกมันเป็นเรื่องที่ควรแล้วที่หันกลับมาแก้ปัญหา”
ส่วนการที่ผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องขอขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะแก๊สเอ็นจีวีขึ้นนั้น เธอมองว่ามันคือระบบการแข่งขันที่สูง อยากให้รัฐบาลจัดระบบให้ดีและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด มากกว่าการที่ให้ยื่นข้อเรียกร้องและให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องไปเสียทุกอย่าง
“คิดว่าในปัจจุบันราคาขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แล้วก็ควบคุมจำนวนรถดู ในการบริหารจัดการ ควบคุมในเรื่องของประสิทธิภาพด้วยและรัฐก็เข้ามามีเป็นกลไก ที่คอยสมดุลกลไกตลาดเพราะมันเป็นขนส่งสาธารณะมันเป็นเรื่องของสาธารณูปโภค อย่าปล่อยให้กลไกการตลาดมาทำงานอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นขนส่งมวลชนประเภทที่เป็นขนส่งสัมปทาน คิดว่าเราปล่อยปละละเลยขนส่งสาธาณะมากเกินพอแล้วค่ะ”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754