xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่สุวรรณภูมิจอมโกง” อธิบดีฯ ตัดจบ ไม่ต้องสาวถึงต้นตอ!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุวรรณภูมิแจงลงโทษแท็กซี่โกงยุ่น สั่งห้ามไม่ให้เข้ามาให้บริการที่สนามบินอีก ส่งให้เกิดความแคลงใจตามมาว่า เหตุใดความผิดนี้จึงสิ้นสุดอยู่ที่ตัวคนขับแท็กซี่ ยังมีใครชักใยอยู่เบื้องหลังการฮั้วทั้งระบบครั้งนี้หรือไม่ และจะทำอย่างไรจึงจะสาวถึงต้นตอและแก้ปัญหาแท็กซี่น่าอายประจำคิวสุวรรณภูมิให้สิ้นซาก!!?

 
ลงดาบ! ห้ามรับ-ส่ง ในสนามบิน

 
สืบเนื่องมาจากกรณีชายชาวญี่ปุ่นใช้บริการแท็กซี่ที่ให้บริการตามคิวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้เรียกให้ไปส่งที่สะพานควาย ทว่ารถแท็กซี่คันดังกล่าวกลับขอเรียกราคาเหมาเป็นเงิน 700 บาท แทนการเปิดมิเตอร์ และอ้างว่าเป็นรถแท็กซี่ Van ขนาดใหญ่ ทำให้ชายชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวเกิดอาการไม่พอใจ โพสต์รูปภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กของตนเอง 'Koki Aki' โดยให้ความเห็นว่า

 
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานที่สร้างความน่าอับอายให้แก่ประเทศไทยการใช้บริการรถแท็กซี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องโดยคิดค่าบริการเป็นแบบเหมาจ่ายแทนที่จะกดเปิดมิเตอร์ตามปกติ






 
ล่าสุด ผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิสั่งลงโทษรถแท็กซี่โกงค่าโดยสารชาวญี่ปุ่นแล้ว โดยสั่งยกเลิกรหัส และห้ามไม่ให้เข้ามาให้บริการที่สนามบินอีก “ประพนธ์ ปัทมกิจสกุล” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า

 
กรณีดังกล่าวนี้ ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่มีการเรียกเก็บราคาแบบเหมาจ่ายให้กับชายชาวญี่ปุ่น “Koki Aki” นั้น คือ “ไชยยันต์ เจริญโสภา” ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถแท็กซี่ Van ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอินโนวา หมายเลขทะเบียนรถ มฎ 5178 กรุงเทพมหานคร หมายเลขประจำตัวผู้ขับขี่ 570297




 
โดยชายคนดังกล่าวได้ยอมรับว่าได้เรียกเก็บราคาแบบเหมาจ่ายจากนาย Koki Aki จริง ถือว่าการกระทำนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎระเบียบของผู้ที่ขับรถรับจ้างสาธารณะ เพราะทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้กำหนดการคิดอัตราค่าโดยสารของรถรับจ้างไว้ว่า ให้เรียกเก็บค่าโดยสารตามที่ปรากฏตามมาตรมิเตอร์ค่าโดยสารเท่านั้น

 
ทั้งนี้ ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการตรวจสอบข้อร้องเรียนและพบว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีการกระทำความผิดจริงจะมีการสั่งลงโทษทุกรายอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น และสำหรับในกรณีนี้กำหนดบทลงโทษไว้ ให้ยกเลิกรหัสของโชเฟอร์จอมโกงรายนี้ โดยสั่งพักการให้บริการของแท็กซี่คันดังกล่าว และสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาให้บริการรับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

 
ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตั้งจุดตรวจสอบรถแท็กซี่ที่รับผู้โดยสารแล้วจะต้องเปิดมิเตอร์ในการให้บริการทุกคัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายเหมือนดังเช่นในกรณีนี้อีก และนอกจากนี้ผู้โดยสารห้ามให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่เก็บตั๋วไปเด็ดขาด ผู้โดยสารจะต้องเป็นคนเก็บตั๋วโดยสารเอาไว้กับตัวเองเพื่อเอาไว้ตรวจสอบอีกด้วย โดยจุดดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสารชั้น 1 ประตู 8

 
 
กรมการขนส่งชี้ ไม่จำเป็นต้องสาวถึงต้นตอ!

 
แน่นอน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะรถรับจ้างสาธารณะไม่สามารถเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายได้ และในกรณีนี้เองทำให้ประชาชนต่างคาดหวังให้มีการแก้มาตรการใหม่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะแท็กซี่ในประเทศไทยเรามีเยอะเกินไปและคงไม่มีการกระทำผิดแบบนี้ทุกคัน เพราะฉะนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตัดออกจากการเป็นสมาชิกในการให้บริการก็น่าจะจบแล้ว

 
“ในทางปฏิบัติ รถแท็กซี่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมายนะครับ ในส่วนของกรมก็ได้มีการเรียกผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันนี้เข้ามา มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว และจะส่งเข้าปรับทัศนคติในการให้บริการใหม่ 3 ชั่วโมง และเขาก็สารภาพว่าเขาทำเป็นครั้งแรก ก็เปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท”




 
หากในอนาคตมีการกระทำเช่นนี้อีก ไม่ใช่แต่จะโดนแค่เปรียบเทียบปรับและจะมีโทษขั้นรุนแรงถึงขึ้นเพิกถอนใบอนุญาตและจะไม่สามารถขับรถรับจ้างสาธารณะได้อีกเลย

 
ถ้าในอนาคตมีการทำเช่นนี้อีก ก็จะถูกปรับและก็พักใช้ใบอนุญาตนะครับ 7 วัน 15 วัน 30 วัน แล้วแต่นะครับ เพราะตอนนี้ข้อมูลของเขาอยู่ในแฟ้มประวัติของแท็กซี่แล้วว่าเขามีการกระทำผิด ถ้าเขาทำผิดเป็นครั้งที่ 3 จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต เขาก็จะไม่สามารถขับรถได้อีกเลย”

 
นอกจากมีการลงโทษแล้วในการกระทำความผิดแล้ว ทางกรมการขนส่งทางบกยังช่วยในเรื่องของการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่อีกด้วย เพื่อไม่ให้มีการกระทำเช่นนี้อีก

 
“ในส่วนการพัฒนาทัศนคติของแท็กซี่กรมฯก็ทำอยู่ ทางเครือข่ายแท็กซี่เขาก็ทำอยู่ครับ เขาก็พยายามปรับทัศนคติพวกคนหมู่มาก คนแสนคน ไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ทำในเรื่องของการปรับทัศนคติเป็นหลัก ถ้ามีการร้องเรียน มีการตรวจพบการกระทำความผิดก็จะมีการลงโทษแล้วก็ลงโทษให้หนักขึ้นเพื่อให้เกรงกลัว แจ้งกับคนขับอย่างเดียวก็จะมีการเชิญตัวมาที่กรมแล้วก็มีการพูดคุยปรับทัศนคติเบื้องต้น”

 
แม้ว่าทางกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการการลงโทษในการทำความผิดแล้ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังแคลงความสงสัยอยู่ไม่น้อย เพราะเหตุการณ์นี้มีเงื่อนงำมาตั้งแต่การเปิดบัตรคิว และระบุให้ขึ้นรถแท็กซี่คันใหญ่แล้วต้องไม่กดมิเตอร์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันถูกเชื่อมโยงว่ามันไม่น่าจะสามารถทำได้แค่คนคนเดียว หรืออาจจะมีใครจะอยู่เบื้องหลังกลโกงในครั้งนี้

 
“แท็กซี่เรามีตั้ง 100,000 กว่าคันนะครับ คงไม่มีใครกระทำความผิดแบบนี้ทุกคันหรอก แท็กซี่ที่ดีมีเยอะครับ ถามถึงว่าจะสาวไปถึงต้นตอผู้ประกอบการมั้ย? มันคงไม่ไปใหญ่โตขนาดนั้นหรอกครับ คือกรณีนี้แท็กซี่เขาก็ทำความผิด ทางแท็กซี่เครือข่ายสุวรรณภูมิเขาก็ตัดออกจากสมาชิก ไม่สามารถให้บริการที่สุวรรณภูมิได้แล้ว ทางกรมก็เรียกมาเปรียบเทียบปรับ ในฐานะผู้รักษากฏหมายก็น่าจะจบ”

 
 
แน่จริง อย่าหยุดแค่แท็กซี่คันนี้!

 
ในฐานะผู้ดูแลคนใช้รถใช้ถนน ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่แสดงความคาดหวังไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวยุติอยู่แค่นี้ “นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์” ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวไว้ว่าถ้าอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีสุดท้าย ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่าหยุดที่แท็กซี่คันนี้!

 
“ทางกรมการขนส่งทางบกน่าจะใช้โอกาสนี้เข้าไปวิเคราะห์ตรวจสอบแผนการดูแลของฝั่งผู้ประกอบการขนส่งหรือเรียกง่ายๆ ว่าวินนะครับ ผู้ประกอบการขนส่งที่เข้ามายื่นขอจดทะเบียนในนี้มันจะมีเงื่อนไขอยู่ คิดว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงหรือว่าเพิ่มเติม

ตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการขนส่ง ควรจะมีมาตรการที่กำกับดูแลรถแท็กซี่ที่เป็นสมาชิกยังไงบ้าง คือในกรณีนี้กลายเป็นว่าให้แท็กซี่รับผิดไปคนเดียวซึ่งขณะเดียวกัน การกระทำความผิดมันถูกเชื่อมโยงว่ามันไม่น่าจะสามารถทำได้แค่คนคนเดียว มันมีสัมพันธ์เชิงระบบอยู่ เช่นมันมีเงื่อนงำมาตั้งแต่การเปิดบัตรคิว มันมีเงื่อนงำมาตั้งแต่ระบุว่าคุณขึ้นรถคันใหญ่แล้วต้องไม่กดมิเตอร์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ถ้าไม่มีคนในระบบรู้เห็นเป็นใจ”




 
เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการและทางท่าอากาศยานควรเอาเสียงสะท้อนนี้ กลับมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ปรับปรุงระบบ และจัดระเบียบให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

 
“ตรงนี้ทั้งหมดมันควรจะเป็นระบบที่เจ้าของวิน ท่าอากาศยานมาวางระบบด้วยกัน เพื่อจะกำกับดูแลให้สมาชิกรถแท็กซี่ที่เข้ามาวิ่งรับผู้โดยสารไม่ออกนอกแถว เราต้องชื่นชมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นว่าเขากล้าหาญ ลุกขึ้นมาสะท้อน กล้าที่จะให้ข้อมูล ทั้งๆ ที่เขาอาจจะมีความเสี่ยงกับตัวเอง แต่เราเสียโอกาสที่จะเอาเสียงสะท้อนของเขามาปรับปรุงระบบ มาจัดระเบียบให้มันถูกต้อง ในที่นี้ถ้าจบแค่เพียงว่าคนคนนี้ผิดคนเดียวแล้วมันจบเรื่อง ก็ถือว่าเราเสียโอกาสนะ”

 
ส่วนในเรื่องของการแก้ไขปรับปรุง เบื้องต้นต้องให้ข้อมูลกับผู้โดยสารให้มากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดให้ผู้โดยสารมีความเข้าใจมากที่สุด

 
“กระบวนการในการกำกับอย่างที่ผมบอก วิธีการกำกับที่ดีที่สุดเลย คือ ให้ข้อมูลให้มากที่สุดกับผู้โดยสาร ให้ผู้โดยสารรับรู้แล้วก็ให้ผู้โดยสารอย่ายอม ต้องให้ผู้โดยสารรู้ข้อมูลพวกนี้ตั้งแต่ตอนเปิดบัตรคิว เขียนตัวโตๆ เลยว่า มิเตอร์เท่านั้น อะไรประมาณนี้ ข้อความพวกนี้มันจะกลายเป็นเพาเวอร์ในการทำให้ผู้โดยสาร หรือว่าชาวต่างชาติเข้าใจ เพราะฉะนั้น นี่คือกติกาที่ทางการท่าและผู้ประกอบการต้องกำหนดเอาไว้”

 



ทั้งนี้ ต้องกลับมาคิดวิเคราะห์ ว่าระบบนั้นมีข้อผิดพลาดตรงไหน และต้องแสดงความรับผิดชอบเองโดยที่ไม่ต้องรอกฎหมายทางกรมขนส่งทางบก

 
“ส่วนกรมขนส่งเขามีหน้าที่ดูแลกับมาตรการทางกฎหมาย ก็จะเอาบวกเพิ่มด้วยอีกแรงหนึ่ง แต่อย่าลืมนะครับว่าในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของ จะว่าไปถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องกลับมาวิเคราะห์ระบบว่ามีผิดพลาดตรงไหน มันเปิดช่องโหว่ตรงไหนให้สมาชิกมาใช้โอกาสของช่องโหว่ในการเรียกหาผลประโยชน์ได้

 เพราะฉะนั้น ถ้าจะแสดงความรับผิดชอบก็ควรจะวางระบบเรื่องนี้ให้ชัดเจน และในกรณีที่มีแท็กซี่ที่แตกแถวหรือว่าไม่ทำตามกติกา ผมเชื่อว่าทางการท่าแล้วก็ทางเจ้าของวินน่าจะมีบทลงโทษเองเลยไม่ต้องรอขนส่งหรอก เพราะว่าเขาก็มีหน้าที่ดูแลสมาชิกอยู่แล้ว เขาก็มีมาตรการที่กำกับดูแลเองนะครับ

 สุดท้าย คือสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่ประสบเหตุ ถ่ายภาพบัตรคิวเหมือนอย่างในกรณีนี้ ผมคิดว่าแค่นี้แท็กซี่ก็น่าจะรู้แล้วว่าเขาแตกแถวไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องเป็นการจัดการเชิงระบบ ถ้าฝั่งผู้ประกอบการยังไม่ทำตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งที่จะต้องไปประเมิน 


 ถ้ายังคงเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ บทลงโทษต้องถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต คือไม่ใช่ไปไล่จัดการเคสเล็กๆ จะต้องแก้ที่ตัวระบบเอง ถ้ายังปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ซ้ำๆ คำถามคือผู้ประกอบการจะรับผิดชอบยังไง ถ้าผู้ประกอบการที่ตรงสนามบินนั้นผมคิดว่าทางขนส่งก็มีสิทธิใช้กฎหมายมากำกับได้” 

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น