xs
xsm
sm
md
lg

วันนี้ที่รอคอย! ศาลปกครองสั่ง กทม.ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
คนพิการเฮหลังรอคอย 6 ปี ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กทม. ละเลยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอส สั่งผู้ว่าฯ ติดอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทั้งลิฟต์ ราวจับ ที่จอดรถคนพิการให้เสร็จภายใน 1 ปี

วันนี้ (21 ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางสั่งให้ กรุงเทพมหานครจัดทำลิฟต์ขึ้นลงสำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทั้ง 23 สถานี รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยให้เว้นที่สำหรับจอดรถเข็นคนพิการมีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. มีราวจับ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาค กับพวกจำนวน 3 คน ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม) ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.สำนักการโยธา กทม. และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ในข้อหาร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่กำหนดให้ต้องจัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถสำหรับคนพิการที่มาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนบีทีเอส ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 52 ให้ยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า แม้ขณะนั้นจะมี พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดของอาคาร สถานี และยานพาหนะ ที่จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการแต่อย่างใด การที่ กทม. และ บมจ.บีทีเอส ไม่ได้ก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวก จึงไม่อาจถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาในวันนี้ระบุว่า แม้ กทม. โดย ผู้ว่าฯ กทม. และบีทีเอส ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2534 ก่อนที่จะมีกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกความตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่กำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ และคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจะออกระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2544 จึงไม่อาจใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อกฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่เป็นเจ้าของอาคารสถานีขนส่งมวลชนต้องแก้ไขปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟฟ้า ยานพาหนะให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ ปรากฏว่า กทม. ได้จัดทางขึ้น - ลง และลิฟต์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการเพียง 5 สถานี จากสถานีขนส่งจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี และไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ไม่ได้จัดทางขึ้น - ลง และลิฟต์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการในอีก 18 สถานี เกิดจากข้อจำกัดอันใด นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเอกสารสรุปการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ว่าฯ กทม. รายงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือที่ กท4000/3314 ลงวันที่ 4 พ.ค. 2542 แสดงให้เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. จะจัดอาคารสถานีรถไฟฟ้า ยานพาหนะให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ให้เป็นไปตามกฎหมายได้

ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกความตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2542 และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2544 จนถึงวันที่สุภรธรรม กับพวกจำนวน 3 คน นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 13 ก.ย. 2550 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แต่ กทม. เพียงจัดให้มีทางขึ้น - ลง และลิฟต์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการเพียง 5 สถานี จากสถานีขนส่งจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล้าช้าเกินสมควร การที่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายสุภรธรรม กล่าวว่า รู้สึกตื้นตันใจ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมดีขึ้น เป็นการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งเป็นการสร้างสำนึกและจิตสาธารณะของคนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารอคอยมานานและถือว่าคุ้มค่ามาก หลังจากนี้ จะติดตามการดำเนินการของ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้ทำตามคำสั่งหรือไม่อย่างไร ส่วนระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นเราก็จะไปพูดคุยเพื่อให้มีการอำนวยสะดวกให้กับคนพิการที่ใช้บริการ โดยจะใช้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นบรรทัดฐานในการพูดคุย เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวได้มีผู้พิการ และผู้สูงอายุ เครือข่ายมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และชมรมมนุษย์ล้อและเครือข่ายคนพิการนานาชาติ จำนวน 100 คน เดินทางมารับฟังคำพิพากษา โดยก่อนเข้าฟังคำพิพากษา ทั้งหมดได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่ม “ปฏิบัติการขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้” ยืนยันเจตนารมณ์ว่า ระบบขนส่งมวลชนของไทย และที่จะเชื่อมต่อในประเทศอาเซียนนั้น คนพิการทุกคนต้องขึ้นได้ด้วยความสะดวก ปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยบริการขนส่งสาธารณะต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น