xs
xsm
sm
md
lg

“สมบูรณ์ คำแหง” : ถ้าให้สร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ประกอบเป็น “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” คนไทยจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
การเร่งเครื่องเต็มสูบของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยรอบด้าน ประเด็นพลังงาน และการเมืองเป็นเรื่องครึกโครมแบบสุดๆ จนอาจทำให้สังคมละเลยที่จะมองลงไปยังการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ซึ่งที่จริงก็เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปพลังงาน และการเมืองนั่นแหละ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทหารที่มีที่มาแบบไม่ปกติจะรวบรัดหาทางเร่งเดินหน้าสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อันเป็นโครงสร้างสำคัญของ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” ชนิดไม่ติดเบรก ล่าสุด กรมเจ้าท่าสั่งตั้งกรรมการหวังกุดหัวฝ่ายค้าน ขณะที่เครือข่ายคนสตูลรู้ทันปรับแผนสู้ และรุกกลับแบบมันหยด
 
ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้จับเข่าคุยกับ “สมบูรณ์ คำแหง” คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ผู้ที่ยังมีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการมูลนิธิอันดามัน และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) เพื่อประมวลความเคลื่อนไหวการเร่งสปีดของภาครัฐ พร้อมๆ กับการตั้งรับ และรุกกลับของภาคประชาชนเกี่ยวกับอภิมหาเมกะโปรเจกต์บนแผ่นดินด้ามขวาน ซึ่งแม้จะสัมพันธ์กับการปฏิรูปด้านพลังงานและการเมืองโดยตรง แต่แทบไม่ถูกหยิบยกไปพูดถึง
 

 
ASTVผู้จัดการภาคใต้” : ความคืนหน้าการผลักดันแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งจะมีถนนมอร์เตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟขนสินค้า ท่อน้ำมัน และก๊าซ โดยต่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยนั้น
 
“สมบูรณ์ คำแหง” : ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรมเจ้าท่าคือ มีการออกหนังสือเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2557 สั่งการให้แต่งตั้ง “คณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล” ซึ่งได้เชิญ “เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล” เข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย ถือได้ว่าเป็นการรุกคืบอีกก้าวของฝ่ายราชการ และรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าโครงการให้ได้
 
จากนั้น เมื่อวันที่ 22ก.พ.2558 ที่ผ่านมา มีตัวแทนคณะกรรมาธิการคมนาคมของ สนช.เดินทางลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างโครงการอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่วนหนึ่งได้อ้างว่าต้องการจะมารับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ แต่มิได้เชิญชาวบ้าน หรือตัวแทนของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล เข้าร่วมแต่อย่างใด ยังคงเป็นการฟังความข้างเดียวจากผู้ที่ให้การสนับสนุนเท่านั้น
 
และเมื่อวันที่ 2 มี.ค.นี้ คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ตัวแทนกลุ่มรักจังสตูล และตัวแทนเครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา รวมจำนวน 30 คนได้เข้าพบ นายเดชรัตน์ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อของยื่นหนังสือผ่านถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า เรื่องขอปฏิเสธการเข้าร่วมคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่กรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งแต่งตั้งมานั้น
 
ขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายได้ระบุในคราวเดียวกันว่า ขอทราบความคืบหน้าการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการคมนาคม สนช.เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะผู้ว่าฯ สตูล ได้เข้าร่วมในการให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวด้วย
 
นอกจากนี้ เรายังส่งความไปยังกรมเจ้าท่า ผ่านหนังสือฉบับนั้นด้วยว่า กรมเจ้าท่าจะต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด และไม่ควรอาศัยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ เพื่อหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อที่จะเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้จงได้
 

 
: เมื่อเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการที่กรมเจ้าท่าตั้ง การเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
จากการเข้าพบผู้ว่าฯ สตูล เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่า จ.สตูล เข้าร่วมด้วย ซึ่งได้นำเอกสารคู่มือทำความเข้าใจโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามาแจกในที่ประชุม คาดว่าเอกสารนี้จะเป็นเอกสารสำคัญหลักที่จะใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของกรมเจ้าท่า
 
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีสาระหลักมุ่งเน้นไปที่เรื่องเชิงเทคนิคในการก่อสร้างท่าเรือ และบอกถึงงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างระยะที่ 1 ประมาณ 17,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ก็พยายามบอกถึงข้อดีต่างๆ ของโครงการ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย และตามที่กรมเจ้าท่า ได้มีระบุบทบาทหน้าที่แนบท้ายคณะทำงานชุดนี้ว่า จะต้องให้ประชาชนรับรู้โครงการแต่เฉพาะข้อมูลในด้านบวกเท่านั้น
 
ในส่วนของคณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล เราได้แสดงท่าทีต่อคณะทำงานชุดนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถเข้าร่วมได้ และยังเห็นว่ากรมเจ้าท่า ควรจะที่จะทำตามกระบวนการ หรือขั้นตอนทางกฎหมายที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน อย่างเช่น ความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่กำกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ ซึ่งหากกรมเจ้าท่า จะยืนยันเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราต่อไป ก็จะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) ร่วมด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทโครงการที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน
 

 
: ขอทราบว่า เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ประกอบด้วยองค์กร หรือหน่วยงานใดบ้าง แล้วร่วมเคลื่อนไหวกันอย่างไร
 
ส่วนใหญ่แล้วเราเคลื่อนไหวเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันในชื่อของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ซึ่งเป็นการรวมตัวกันแบบเฉพาะกิจเพื่อเรื่องนี้ของกลุ่มนักกิจกรรม และนักพัฒนาอิสระต่างๆ ซึ่งก็มีการปฏิบัติการกันในมิติต่างๆ ทั้งกลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน ด้านการศึกษาวิจัยท้องถิ่น กลุ่มนักปกครองท้องถิ่น กลุ่มสิ่งแวดล้อมทั้งชายฝั่งทะเลและป่าไม้ ตลอดถึงกลุ่มคนเมือง รวมถึงกลุ่มคนชั้นกลางที่มีจิตใจสารธารณะ และรักหวงแหนในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
 
ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการนี้ก็มีการรวมตัวกัน และมีการปฏิบัติการคัดค้านกันอย่างต่อเนื่องก็คือ “เครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา”
 
ที่ผ่านมา เราก็ได้มีการเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสื่อสารต่อสาธารณะในเรื่องของความสวยงาม และความสำคัญของทะเลอ่าวปากบารา ในมิติของการท่องเที่ยว การประมง และการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตผู้คน และของชุมชนในบริเวณนี้
 
แต่หลังจากที่ได้มีความพยายามของกรมเจ้าท่าที่จะอาศัยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติในช่วงนี้ เพื่อต้องการที่จะละเลยการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย หรือทำอะไรบางอย่างต่อปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการได้ในช่วงที่ผ่านมา เราคิดว่าจากนี้ไปคงจะต้องสร้างปฏิบัติการทั้งรับ และรุกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธเข้าร่วมเป็นคณะทำงานที่กรมเจ้าท่าได้แต่งตั้งนั้น ก็เท่ากับเป็นการประกาศตัวเพื่อที่จะยันต่อการรุกรานในรอบใหม่นี้อีกครั้งอย่างชัดเจน 
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา เราได้เชิญชวนคนสตูลร่วมกันแสดงเจตนาคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ด้วยการจุดคบไฟกลางทะเล กลางอ่าวปากบารา เน้นตรงจุดที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งมีผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมหลายร้อยคน
 
และในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ก็จะจัดให้มีการระดมทุน โดยการเลียงน้ำชาแบบวัฒนธรรมปักษ์ใต้ มีวงเสวนาเรื่องราวเกี่ยวกับปากบารา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันร่วมกันของผู้ที่ไม่เอาโครงการดังกล่าว ซึ่งคนที่เห็นด้วยพร้อมจะลงขัน ลงแรงกันทุวิถีทางที่จะต่อสู้กับโครงการขนาดยักษ์ที่มากด้วยกำลังทำลายล้างมหาศาลนี้
 
อีกทั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่จะถึง เราก็จะจัดกิจกรรมยกปากบาราไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย.2558 เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับความสวยงามของทะเลอ่าวปากบารา รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนแถบนั้น ผ่านงานศิลปะต่างๆ เช่น การแสดงภาพถ่าย ภาพวาด ดนตรี และพร้อมกับการเชิญชวนคนกรุงได้มาท่องเที่ยว หรือมาสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงามนี้ เราจะมีการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชนท้องถิ่นด้วย
 
สิ่งเหล่านี้ก็คือ การสื่อสารกับสาธารณชนคนไทยทั้งประเทศ และสื่อสารให้แก่รัฐบาลเพื่อให้รับรู้ว่า ปากบารา และท้องทะเลสตูลควรค่าแก่การดูแลรักษาไว้ชั่วลูกชั่วหลาน มิใช่มีไว้เพื่อทำลาย หรือตอบสนองผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น 
 

 
: ประเมินว่า การที่บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะไม่ปกติตอนนี้ ทั้ง คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดอย่างไรต่อแผนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือถ้านับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลด้วยแล้ว เราเชื่อว่าในรัฐบาลปกติ หรือแม้แต่รัฐบาลก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร ซึ่งมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 บังคับใช้กันอยู่ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หรือหากทำได้จริงก็ต้องใช้พลังทางการเมืองสูงมาก
 
เพราะฉะนั้น ในช่วงของการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ จึงถือเป็นจังหวะ และโอกาสของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งในทางการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุนระดับชาติ หรือกลุ่มทุนโลกบาลที่ใหญ่กว่านั้น พวกเขาจะพยายามฉกฉวยสถานการณ์เช่นนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกตน โดยไม่สนใจรายละเอียดปลีกย่อยอื่นใด โดยเฉพาะความเดือดร้อนของประชาชนคนชั้นล่างทั่วไป
 
และนี่คงเป็นความอัปยศที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดนี้ทันที หากยังดื้อดึงและพยายามที่จะใช้โอกาสนี้เดินหน้าโครงการเหล่านี้ต่อไป 
 

 
: เคยจินตนาการไหมว่า 5-10 ปีต่อจากนี้ไป จะเกิดอะไรขึ้นสังคมคนสตูล หากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลสามารถสร้างได้
 
ผมสรุปได้ด้วยคำสั้นๆ ว่า...ต่อไปคงไม่มีอะไรเหลือ 
 
นี่คือเรื่องที่พวกเราหนักใจที่สุด เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้พูดถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเพียงโครงการเดียว แต่มันคือองค์ประกอบขององคาพยพทั้งหมดของโครงการขนาดอภิมหาโปรเจกต์ระดับภูมิภาคอาเซียน หรือจะว่าเป็นระดับโลกเลยก็ได้ ซึ่งจะมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นตามมา
 
ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อจะเปลี่ยนสภาพพื้นที่ศูนย์กลาง 2 จังหวัดคือ สงขลา และสตูล ซึ่งในข้อเท็จจริงรวมพื้นที่มากกว่านั้น หรือสามารถขีดวงได้ว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ทั้งภาคใต้เลย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของกระแสทุนโลก ผ่านระบบการผลิตและขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการครอบครองผลประโยชน์ด้านพลังงานทั้งหมดในภูมิภาคแถบนี้
 
นั่นหมายถึงจังหวัดเล็กๆ อย่างสตูล ก็จะต้องสูญเสียความเป็นตัวตนที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงการจะต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อติดอันดับโลก และรวมถึงการสูญเสียในวิถี วัฒนธรรม และสังคมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งนี้
 
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็คือการพลิกจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้จากหน้ามือ ให้กลับกลายเป็นหลังมือทันที ซึ่งสุดท้ายแล้วความหายนะต่างๆ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่คนสตูลทุกคนจะต้องประสบอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และเมื่อนั้นใครจะมารับผิดชอบต่อความสูญเสียดังกล่าว
 

 
: ในทางกลับกัน ถ้าเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ล่ะ ผืนแผ่นดินและสังคมคนสตูลจะพัฒนาไปทางไหน อย่างไร เคยวาดฝันเรื่องนี้ไว้ไหม
 
เรามีข้อเสนอต่อเรื่องนี้มาตลอดว่า การพัฒนาจะต้องตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรที่มีอยู่จริง ซึ่งผู้บริหารประเทศ หรือใครที่คิดโครงสร้างการบริหารประเทศนี้จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดนี้ และหันกลับมารับฟังคนในพื้นที่มากขึ้น นั่นหมายถึงทิศทางการพัฒนาประเทศจะต้องเกิดขึ้น และส่งผ่านไปจากประชาชน จากฐานรากข้างล่างส่งขึ้นไปสู่ด้านบน
 
สตูล เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสำคัญคือ ความสวยงาม ความสมบูรณ์ และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบก และทางทะเล อันเป็นที่มาของเศรษฐกิจ 3 ขาหยั่ง กล่าวคือ ด้านการท่องเที่ยว การประมง และการเกษตรกรรม โดยถูกหลอมรวมด้วยวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบ
 
สตูลไม่เหมือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อื่นๆ และเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็จะต้องวิเคราะห์ถึงรูปแบบวิธีคิด และการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งเราเชื่อว่าหากมีการทุ่มเทเต็มสรรพกำลัง ทั้งทุนทางสังคม และบุคลากรอย่างจริงจัง บวกกับวิสัยทัศน์ที่แหลมคม เราเชื่อว่าสิ่งนี้ก็จะนำพาการพัฒนาที่ดีให้แก่คนสตูล และจะส่งผลไปถึงประชากรทั้งประเทศด้วย อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาที่จะสร้างความมั่นคง ยั่งยืนได้ยิ่งกว่าแน่นอน 
 

 
: มีอะไรจะฝากถึงคนสตูล คนสงขลา คนภาคใต้ หรือผู้คนทั้งสังคมไทยบ้าง 
 
สำหรับคนสตูลแล้ว เราต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยมีความน้อยเนื้อต่ำใจต่อการเป็นจังหวัดที่มักถูกละเลยมาตลอด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการพัฒนาเชิงวัตถุ และเราก็มักจะนำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับจังหวัดใหญ่อื่นๆ ในภาคใต้ด้วยกัน อย่าง จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี หรือกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย ยิ่งกว่านั้นคือ การนำไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย หรือกับสิงคโปร์ด้วย เพราะระยะทางที่ไม่ห่างไกลกัน ผู้คนเหล่านี้จึงอยากเห็นการพัฒนาของ จ.สตูล ไปในทิศทางดังกล่าวด้วย
 
หากแต่ลืมไปว่า แท้จริงแล้วสตูลก็คือสตูล เราไม่ใช่กรุงเทพฯ เราไม่ใช่สงขลา หรือหาดใหญ่ และเราไม่ใช่มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้จังตัวเอง ต้องมองให้เห็นถึงศักยภาพที่เรามีอยู่ และต้องพร้อมที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นโอกาสสูงสุดให้ได้ เราจึงเชื่อว่า จ.สตูล ไม่ได้ด้อยพัฒนาเลย เราก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศนี้ไม่มี และเราก็มีดีมากมายอย่างที่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ไม่มี
 
สำหรับคนภาคใต้ เราคงจะต้องช่วยกับขบคิดให้หนัก เพราะหากดูภาพรวมของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ฉบับที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้วางไว้ โดยวางไว้บนฐานคิดเพียงว่าจะใช้ศักยภาพของภูมิประเทศที่เป็นแหลมมลายูที่หยั่งลงกลางทะเลทั้ง 2 ฟากมหาสมุทร คือ อันดามัน ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และอ่าวไทย ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วได้มีการวางโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ มากมายหลายรูปแบบ ทั้งลอจิสติกส์ อุตสาหกรรม พลังงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้
 
นั่นหมายถึงการจัดวางให้แผ่นดินภาคใต้ทั้งภาคเป็นแหล่งลงทุนใหม่ของนักลงทุนระดับโลก ซึ่งคาดการว่าหากในอนาคตทุกโครงการที่ถูกกำหนดไว้สามารถจัดสร้างได้หมด ความหายนะก็จะเกิดขึ้นต่อคนภาคใต้ทั้งภาค ซึ่งต้องรวมถึงคนไทยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
 
ดังนั้นแล้ว ช่วงเวลานี้จึงคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่คนใต้จะต้องศึกษา ต้องติดตาม ต้องเฝ้าระวัง และต้องนำไปเสนอให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างเท่าทันที่สุด โดยจะต้องเร่งสร้างทางออกที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคนภาคใต้ร่วมกัน อีกทั้งจะต้องสร้างแรงพลังร่วมกันที่จะสื่อสารให้แก่รัฐบาล หรือผู้กุมกลไกอำนาจรัฐได้รับทราบอย่างทันท่วงที
 
มิเช่นนั้น จ.สตูล จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา จ.ภูเก็ต และหรือจังหวัดอื่นๆ ทั่วทั้งภาคใต้ และคงต้องรวมคนไทยทั้งประเทศด้วย พวกเราทั้งคนใต้และคนไทยไม่มีเวลาเหลือให้ถกเถียงกันมากไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะอีกไม่นานเราก็จะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น