xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.คมนาคม สนช. ลงพื้นที่สอบปัญหาท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ จ.ตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรัง - พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงศึกษาข้อมูล และศึกษาปัญหา “โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ” อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งสร้างเสร็จแล้วแต่ยังหาเจ้าภาพหลักดูแลไม่ได้ สั่งศึกษา 2 ประเด็นเร่งด่วน

วันนี้ (24 ก.พ.) พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร ประธานคณะกรรมมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานระบบขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวี และการพัฒนาท่าเรือในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งพบปัญหาติดขัดในการดำเนินการหลายแห่ง รวมทั้งโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากปัจจุบันการก่อสร้างอาคารได้แล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถสรุปผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการท่าเรือได้

ทั้งนี้ ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เคยมีองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น รับโอนจากกรมเจ้าท่า เพื่อเข้าไปบริหารจัดการท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น ก็ไม่มีท้องถิ่นใดบริหารท่าเรือ และส่วนใหญ่จะเป็นเอกชน แต่กรณีของ อบจ.ตรัง ถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะได้ลงขันร่วมทุนกับกรมเจ้าท่ามาตั้งแต่ต้น ซึ่งคงต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้

นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง กล่าวว่า อบจ.ตรัง ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ เพื่อสร้างท่าเรือนาเกลือ และขอสนับสนุนงบประมาณจากกรมเจ้าท่า มาก่อสร้างอาคาร และบริเวณโดยรอบ จำนวน 406,945,000 บาท ส่วนถนนทางเข้าท่าเรือนาเกลือ อบจ.ตรัง ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 28 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีต ความกว้าง 12 เมตร ความยาว 1,050 เมตร เบื้องต้น อบจ.ตรัง มีแนวคิดในการบริหารจัดการท่าเรือ 3 แนวคิดคือ 1.อบจ.บริหารจัดการเองในช่วงแรก หลังจากนั้น ให้เอกชนเข้ามาประมูลการให้เช่า 2.อบจ.บริหารจัดการเองทั้งหมด และ 3.ให้เอกชนมาประมูลใช้ท่า ซึ่งทั้ง 3 แนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากกรมธนารักษ์ ขอแบ่งค่าบริหารจัดการในอัตรา 50-50 ก่อนหักค่าใช้จ่าย ซึ่ง อบจ.ตรัง เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่คุ้มทุน

พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ท่าเรือบ้านนาเกลือ อ.กันตัง เป็นท่าเรือที่สวยงาม มีรูปแบบอาคารที่ทันสมัย และจะเป็นท่าเรือที่มีอนาคตที่ดี แต่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ อยากให้มีการขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหา ซึ่งหลังจากนี้ ต้องมีการศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.ศึกษาจุดคุ้มทุนของการบริหารท่าเรือ และ 2.ผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่ศึกษาหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการหารือร่วมกันอีกครั้ง ทั้งกรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ อบจ.ตรัง และส่วนที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้

โดยในระยะแรกอาจมีการร่วมทุนเพื่อช่วยกันดำเนินการบริหาร และปลอดค่าดำเนินการในบางส่วน หลังจากนั้น อาจให้ อบจ.ตรัง ดำเนินการในรูปของการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการท่าเรือ และคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคทางราชการเข้ามาช่วย เพื่อให้การบริหารเป็นไปโดยไม่มีปัญหา และอาจกลายเป็นโมเดลหนึ่งของประเทศไทยที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างท่าเรือนาเกลือ จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า และการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดความแออัด และมลพิษ เนื่องจากท่าเทียบเรือกันตังเดิมตั้งอยู่ในเขตชุมชน ตลอดจนรองรับการพัฒนาตามโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย คือ ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และยังเป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และภูมิภาค รวมถึงลดปัญหาการเสียเวลาในการขนส่งสินค้า เนื่องจากการตื้นเขินของร่องน้ำในบางช่วงเวลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น