xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐ-เอกชนภูเก็ตขานรับโยบายรัฐดันเป็นศูนย์กลางท่าจอดเรือยอชต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาครัฐ-เอกชนภูเก็ตขานรับนโยบายรัฐบาล ทำภูเก็ตเป็นศูนย์กลางท่าจอดเรือสำราญ แต่ต้องขจัดข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เผยปัจจุบันภูเก็ตมีที่จอดเรือสำราญเอกชน 4 แห่ง และรัฐ 1 แห่ง รับเรือได้ประมาณ 1,200 ลำ

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจอดเทียบท่าเรือสำราญ หรือเรือยอชต์ โดยมีแผนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางพัฒนาเส้นทางเดินเรือจากภูเก็ตไปสิงคโปร์ และพม่า โดยจะพัฒนาพื้นที่จอดเรือ โดยปรับท่าเรือขนส่งสินค้าภูเก็ตให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นการร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย

“สำหรับการเป็นศูนย์กลางท่าเรือจอดเรือยอชต์นั้น ปัจจุบันภูเก็ตก็เป็นอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อได้รับการผลักดันเป็นศูนย์กลางการเดินเรือโดยสารขนาดใหญ่ หรือเรือยอชต์ จะต้องมามองว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างระบบขึ้นมารองรับ เช่น การขยายท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของมารีนานั้นมีของภาคเอกชนอยู่ 4 แห่ง และของรัฐ 1 แห่ง มีช่องจอดเรือรวมประมาณ 1,200 ลำ โดยในปี 2557 มีเรือยอชต์เข้ามาภูเก็ตประมาณ 1,500 ลำ ซึ่งหากจะมีการสร้างมารีนาเพิ่มเติมก็ต้องมาพิจารณาข้อดีข้อเสียว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่อย่างไร และเราจะยอมรับได้หรือไม่ และทำอย่างไรให้มีความสูญเสียอยู่ในระดับต่ำสุด ซึ่งต้องมีการศึกษาต่อไป” นายนิสิต กล่าว

ส่วนกรณีที่จะยกระดับท่าเรือในส่วนของท่าเรือสินค้าภูเก็ต หรือท่าเรือน้ำลึกนั้น ปัจจุบันให้เป็นศูนย์กลางการจอดเรือ ซึ่งในส่วนของท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต มีเอกชนรับสัมปทานจากทางกรมธนารักษ์ ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทานปีต่อปี จึงไม่ได้มีการพัฒนามากนัก แม้จะมีงบในการลงทุน แต่ไม่มั่นใจในการลงทุน ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้ก็คิดว่าน่าจะได้มีการพูดคุยและหาทางออกในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการขยายหน้าท่าให้สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้พร้อมกัน 2 ลำ ซึ่งทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการว่า แต่ละปีจะมีเรือโดยสารขนาดใหญ่หรือเรือครุยส์ เข้ามาปีละ 85 ลำ ส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ และยังมีความต้องการอีกมาก แต่ด้วยความไม่สะดวกในเรื่องของการเข้าจอด ที่ผ่านมา จึงมีการผลักดันในเรื่องการขยายหน้าท่ามาโดยตลอด

นายนิสิต กล่าวต่ออีกว่า สำหรับศักยภาพของภูเก็ตในการเป็นศูนย์กลางท่าจอดเรือทางน้ำระหว่างประเทศ ณ วันนี้ เรามีท่าจอดเรือยอชต์ของเอกชนมากถึง 4 ท่า และของรัฐอีก 1 ท่า มีท่าเรือน้ำลึก มีการท่องเที่ยวทางน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่มีเรือต่างๆ ออกจากท่าเรือต่างๆ ประมาณ 300 เที่ยว จำนวนผู้โดยสารประมาณ 10,000-15,000 คน ภูเก็ตมีศูนย์ซ่อมเรือยอชต์ที่มีขนาดใหญ่ และมีโรงแรมที่พัก มีเอนเตอร์เทนเมนต์ กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ไว้รองรับจำนวนมาก

ขณะที่ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธ์ อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากมติ ครม.ที่จะให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางเรือยอชต์ หรือมาริไทม์ฮับ ถือเป็นความชัดเจน และมีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ เพราะเป็นการตอกย้ำความชัดเจนของประเทศว่า ภูเก็ตจะเดินไปในทิศทางนี้ ซึ่งในอดีตก็มีการดำเนินการอยู่แล้วแต่ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลกลาง เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีในการให้นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องได้ทราบชัดเจนว่า ภูเก็ตจะเดินไปทิศทางใด จากความได้เปรียบของภูเก็ตในเรื่องของธรรมชาติทุกคนต้องการจะมาท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่วันนี้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การพัฒนาท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ยังมีปัญหา แม้ภาคเอกชนพร้อมจะลงทุนแต่มาติดข้อกฎหมายราชการในการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจัดทำหลักจอดเรือซึ่งใช้เวลานานถึง 4 ปี การอนุมัติให้เอกชนได้รับสัมปทานในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม และคุ้มทุนที่จะลงทุน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ภูเก็ตเป็นที่ศูนย์กลางจอดเรือยอชต์ ในส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เช่น การผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีมีความเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากเรือโดยสารขนาดใหญ่ หรือซูเปอร์ครุยส์ต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องของมารีนา หรือที่จอดเรือยอชต์ ซึ่งแต่ละปีจะมีเรือเหล่านี้เข้ามาประมาณ 1,500 ลำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีมารีนาของเอกชน 4 แห่ง รองรับเรือในน้ำได้ประมาณ 849 ลำ และบนบกประมาณ 270 ลำ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าดีมานด์ และซัปพลายไม่สอดคล้องกัน ความต้องการที่จอดเรือนั้นยังคงมีอยู่มาก ประกอบกับมารีนาไม่ได้เป็นแค่ที่จอดเรือเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อีก

ด้าน นายวิศิษฐ์ ใจอาจ กรรมการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ด้านการขนส่งทางทะเล กล่าวว่า การผลักดันให้จัดตั้งศูนย์เรือยอชต์ที่จังหวัดภูเก็ต ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว และในนามของภาคเอกชนต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลที่เห็นว่าภูเก็ต มีสภาพภูมิศาสตร์ หรือที่ตั้งเป็นบริเวณยุทธศาสตร์ที่สำคัญในทะเลอันดามัน คือ นอกเหนือจากมีการคมนาคมทางบก และทางอากาศอยู่แล้ว และเมื่อมีการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมทางทะเล โดยเรือสำราญก็ ถือว่าเป็นมิติที่สมบูรณ์ของการเดินทางท่องเที่ยว และในการทำศูนย์จอดเรือยอชต์นั้นจะต้องไม่ใช่เฉพาะการทำที่จอดเรือหรือมารีนาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอื้อในเรื่องภาษีการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่จะนำเข้ามาซ่อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตด้วย ซึ่งที่ผ่านมา มีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ข้อจำกัดอะไรต่างๆ เชื่อว่ายุคของรัฐบาลชุดนี้สามารถทำได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น