ชุมพร - โวยซุ่มเงียบประชาพิจารณ์สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร สนองนโยบาย 2 แสนล้านรัฐบาล แฉเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เคยเอางบประมาณมาผลาญทิ้งแล้วเงียบหาย เลขาธิการ ส.เพื่อสิ่งแวดล้อม แฉแอบทำประชาพิจารณ์เฉพาะกลุ่มแบบเงียบๆ มาแล้ว 5 เดือน
น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขาธิการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสำรวจออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ จ.ชุมพร นานกว่า 5 เดือนแล้ว มีการทำประชาพิจารณ์เฉพาะกลุ่มแบบเงียบๆ ขณะนี้เท่าที่ตนรู้ข้อมูลมา กรมเจ้าท่าได้เลือกพื้นที่เพื่อทำการศึกษาในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณอ่าวสน อ่าวบ่อเมา ในพื้นที่ อ.ปะทิว อ่าวแหลมคอกวาง แหลมเทียน แหลมคอเทียน ในพื้นที่ อ.เมืองชุมพร และอ่าวคราม พื้นที่ อ.สวี
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินโครงการนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกเลย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการลงทุนก่อสร้างนับพันล้าน ดังนั้น ประชาชนทุกคนย่อมมีส่วนได้เสียต่อผลประโยชน์ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ตนได้ประสานไปยังเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมในพื้นที่เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวจากการกระทำดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ นายธนเทพ กมศิลป์ คณะทำงานประสานงานศูนย์อนุรักษ์ชายฝั่งทางทะเลที่ 3 ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลมาก เนื่องจากที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าได้นัดชาวบ้านไปประชุมแสดงความคิดเห็นกันในหลายท้องที่ แต่เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการขุดลอกคลอง และขุดลอกปากอ่าวให้แก่ชาวประมง รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะทำให้แก่ชาวประมง และชาวบ้านเท่านั้น มีคนไปลงชื่อประชุมกันจำนวนมาก แต่ปรากฏว่า ในเอกสารที่ให้แสดงความคิดเห็นกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ทำให้ชาวบ้านแปลกใจมาก ขณะนี้ชาวบ้านกำลังปรึกษาหารือเพื่อจะรวมตัวกันออกมาคัดค้านความไม่โปร่งใสของโครงการดังกล่าวแล้ว
“เมื่อช่วงระหว่างปี 2549-2551 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาสำรวจออกแบบการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งในการนั้นใช้งบประมาณในการดังกล่าวไปนับ 10 ล้านบาท หลังจากศึกษาสำรวจออกแบบแล้วเสร็จเรื่องก็ถูกทิ้งเงียบหายไป โดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รับรู้เลย และตอนนี้กลับเข้ามาทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสำรวจออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ จ.ชุมพรอีก ตนถือว่าเอางบประมาณมาศึกษาเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น” นายธนเทพ กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการสนองตามนโยบายแผนพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของรัฐบาลในวงเงินกว่า 2 ล้านล้านของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยในส่วนของกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบตามแผนดำเนินการลงทุนมีทั้งสิ้นรวม 7 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะเริ่มตั้งแต่ ปี 2556-2563 ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวจะรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถ โดยในส่วนของโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร 2.โครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 3.โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล 4.โครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานที่จังหวัดอ่างทอง 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก 6.โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน และ 7.โครงการก่อสร้างท่าเรือสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
ในส่วนของ จ.ชุมพร กรมเจ้าท่าได้ลงมาดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยจัดทำโครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสำรวจการออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จ.ชุมพร ซึ่งได้เข้ามาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกไว้ 6 จุด ได้แก่ บริเวณอ่าวสน อ่าวบ่อเมา ในพื้นที่ อ.ปะทิว อ่าวแหลมคอกวาง แหลมเทียน แหลมคอเทียน ในพื้นที่ อ.เมืองชุมพร และอ่าวคราม พื้นที่ อ.สวี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการระบบลอจิสติกส์ของไทยให้เชื่อมโยงและต่อเนื่องทั้งการขนส่งทางน้ำ และทางราง ระหว่างชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านทิศตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง และสามารถเชื่อต่อทางบกกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน แต่การทำงานในครั้งนี้เป็นไปอย่างเงียบๆ ประชาชนส่วนใหญ่ใน จ.ชุมพร ไม่ได้รับรู้ข้อมูล จนกลายเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2549-2551 กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด และ บริษัท แอนไว เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด เข้ามาทำการศึกษาสำรวจ ออกแบบก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยกำหนดพื้นที่การศึกษาไว้ 3 จุด ได้แก่ แหลมประจำเหียง อ.สวี แหลมเทียน ต.หาดทรายรี กับแหลมคอกวางเขาหัวโม่ง อ.เมืองชุมพร ซึ่งการศึกษาในครั้งนั้นได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ จนถึงการจัดทำรายงานฉบับสุดท้าย พร้อมแบบการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างที่บริเวณแหลมคอกวางเขาหัวโม่ง อ.เมืองชุมพร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,500-2,300 ล้านบาท พร้อมกับส่งมอบให้แก่กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆจนกระทั่ง 6 ปีผ่านไป กรมเจ้าท่าได้ก็เข้ามาดำเนินการศึกษาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกใน จ.ชุมพร อีกครั้ง