xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนกันคลื่น..ป้องกันหรือทำลายชายฝั่งทะเลไทย?! / ธนพล พัฒนภักดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ธนพล พัฒนภักดี นักศึกษาวิชาวิศวกรรมชายฝั่งทะเล ม.อ.หาดใหญ่
 
 
ชายหาดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยในทุกวันนี้ได้ถูกทำลาย และเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่เดิมชายฝั่งแห่งนี้หาดทรายเสมือนขุมทรัพย์ของชุมชนท้องถิ่น เพราะเป็นทั้งสถานที่ท่องเทียว และที่ทำมาหากินของชาวบ้าน รวมทั้งยังเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของสัตว์นานาชนิด
 
มีการกล่าวอ้างถึงสาเหตุของการกัดเซาะมากมาย แต่มีอยู่บางประเด็นที่ต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ “ปัญหาการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งของพื้นที่อ่าวตอนล่าง เกิดจากลักษณะพื้นที่ชายฝั่งเป็นแบบทะเลเปิด ไม่มีเกาะ หรือพื้นที่ป้องกันกำลังคลื่นลมมรสุม” ซึ่งถูกเขียนไว้ในรายงานกรมเจ้าท่าของโครงการศึกษาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตำบลปากแตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา (รูปที่ 1)
 
รูปที่ 1 โครงการศึกษาออกแบบก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตำบลปากแตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
 
หรือจะเป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่า “การกัดเซาะเกิดจากภาวะโลกร้อนน้ำทะเลสูงขึ้น”
 
อะไรคือความจริง?!
 
แต่ในความเป็นจริงแล้วการกัดเซาะในพื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ล้วนเกิดจาก “ฝีมือมนุษย์” ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เขื่อนกันทรายและคลื่น (Jetty) ที่ปากร่องน้ำ คันดักทรายหรือรอ (Groin) เขื่อนกันคลื่นชายฝั่ง (Breakwater) หรือแม้แต่กำแพงกันคลื่นชายฝั่งแบบต่างๆ
 
ตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหานี้อาจต้องมองย้อนไปในปี 2541 (รูปที่ 2) ซึ่งมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยกรมเจ้าท่าฯ พบว่า ได้ส่งผลกระทบทำให้หาดทราย และชายฝั่งด้านทิศเหนือของตัวเขื่อนถูกกัดเซาะและลุกลามเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ส่วนทางด้านทิศใต้ของตัวเขื่อนนั้นมีการงอกของพื้นที่ชายหาดเพิ่มมากขึ้นทุกปี
 
รูปที่ 2. เขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำนาทับ โดยกรมเจ้าท่า ที่มา : http://www.bwn.psu.ac.th/natap.html
 
จากหลักวิชาทางวิศวกรรมชายฝั่งระบุว่า หาดทรายที่ใกล้กับสิ่งก่อสร้างชายฝั่งจะเกิดการสะสมของทรายด้านต้นเขื่อน ส่วนด้านท้ายเขื่อนชายหาดจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง ตามรูปแบบของคลื่นที่มากระทำ (ดังแสดงในรูปที่ 3)
 
รูปที่ 3 Jetty ร่องน้ำคลองสะกอม อ.จะนะ สงขลา ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2550
 
จะเห็นได้ว่า ด้านซ้ายมือ (ทางด้านใต้ของเขื่อน) ชายหาดจะงอก (จุด A) และเกิดการกัดเซาะ (จุด C) บริเวณด้านขวามือ (ทางด้านเหนือเขื่อน) แนวชายหาดจะปรับตัวให้ขนานกับแนวสันคลื่นที่มากระทำ ซึ่งเป็นไปตามกฎการหักเหและเลี้ยวเบนของคลื่น
 
ดังนั้น “เขื่อนกันคลื่นชายฝั่ง” ป้องกันหรือทำลาย?!
 
ในทำนองเดียวกันนี้ก็พบเห็นได้เมื่อมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอมในปี 2541 ทำให้ชายหาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา
 
โดยที่ทั้ง 2 กรณีต่างก็มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งขึ้นเพื่อหวังจะลดการกัดเซาะของชายฝั่ง (ดังรูปที่ 2) แต่ผลกลับออกมาในทางตรงกันข้ามคือ เขื่อนกันคลื่นส่งผลให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มยิ่งขึ้น และรุนแรงมากขึ้นทุกๆ ปี (รูปที่ 4)
 
รูปที่ 4. ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ทำให้เกิดการกัดเซาะลุกลามถึงตำบลเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา และยังคงลุกลามต่อไป
 
จากหลักฐาน และวิชาการข้างต้น อันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในกรณีบ้านนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และกรณีสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา สามารถสรุปได้ในที่นี้ว่า...
 
“การกัดเซาะของหาดทรายและชายฝั่งล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ใช้จากธรรมชาติแต่อย่างใด”..!!
 
รูปที่ 5 การกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ยังคงดำเนินต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น