xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” ชี้สร้างผนังกั้นคลื่นไม่ช่วยแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง หวั่นเลวร้ายลง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - “นักวิชาการ” ม.อ.หาดใหญ่ ระบุการก่อสร้างหิน เขื่อน หรือกำแพงต่างๆ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทางพื้นที่ภาคใต้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เผยการแก้ปัญหาใช้ความรู้ทางวิศวกรรมไม่ได้ จะต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ชี้มนุษย์คือตัวการสำคัญในการทำลายธรรมชาติ

วันนี้ (21 ส.ค.) นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์หน่วยวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งทางพื้นที่ภาคใต้นั้น ต้องเข้าใจกระบวนการของคลื่น กับกระบวนการทางธรรมชาติ ไม่ใช่ไปเอาสิ่งที่ก่อสร้างที่เป็นหิน เป็นเขื่อน หรือเป็นกำแพงต่างๆ ไปดำเนินการ แล้วจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ เพราะในความเป็นจริงที่ผ่านมา เช่น ที่หาดปากเมง จังหวัดตรัง ซึ่งมีถนนเลียบชายหาด ยิ่งไปสร้างแนวกันคลื่น ยิ่งทำให้ลักษณะของชายฝั่งเปลี่ยนไป และมีความชันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีคลื่นโถมเข้าหาฝั่งก็จะแรงมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากปกติคลื่นลมธรรมชาติทางฝั่งอันดามันจะมีความแรงอยู่แล้ว และเมื่อเจอเข้ากับกำแพงหินขนาดใหญ่ที่มาขวางเอาไว้ ก็จะทำให้สันทรายใต้น้ำหายไป ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดตรังเพียงแค่จังหวัดเดียว เพราะเรามีการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปทำถนน หรือไปทำสิ่งก่อสร้าง ทั้งที่ป่าชายเลนจะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยชะลอความแรงของคลื่นลม เพราะเรามุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมมาเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ไม่นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาใช้เลย ทั้งๆ ที่การบุกรุกของมนุษย์ถือเป็นปัญหาหลัก และปัญหาใหญ่ที่สุดของการกัดเซาะชายฝั่ง

โดยทุกวันนี้ เรามักจะไปโทษธรรมชาติว่ามีคลื่นแรงมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็บอกชัดเจนว่า รูปแบบของคลื่นลม หรือรูปแบบของกระแสน้ำไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนแปลงก็คือ จังหวะที่คลื่นเข้าหาชายฝั่งแล้วมากระทบกับสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นมา ดังนั้น จึงอยากให้ศึกษาเรื่องสัณฐานชายฝั่ง กระบวนการชายฝั่ง หรือวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะโครงสร้างหินจากวิศวกรรมต่างๆ ไม่เคยเอาชนะธรรมชาติ หรือการกัดเซาะชายฝั่งได้ เนื่องจากเราแพ้มาตลอด แต่กลับไม่เคยนำมาใช้เป็นบทเรียนเลย ทั้งที่ปากพนัง ตะลุมพุก ท้ายเหมือง หรือปากเมง


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น