ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง จี้ท่าเรือวางแผนการรับมือให้รัดกุม และรอบคอบและทันต่อเหตุการณ์หากเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด แนะให้นำเหตุการณ์สารเคมีรั่วที่ท่าเรือบี 3 เป็นอุทาหรณ์
วันนี้ (1 ส.ค.) นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งที่ 5/2557 ที่ห้องประชุม 1 อาคารท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีการวาระการปะชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลในท่าเรือบี 3 ท่าเรือแหลมฉบัง
นายสนธิ คชวัฒน์ กล่าวในที่ประชุมว่า เนื่องจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนก และเกิดความสงสัยแก่ชาวบ้านในหลายๆ เรื่อง เช่น ในเรื่องของความล่าช้าในการแจ้งเหตุ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวเหตุเกิดตั้งแต่เช้าแต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับท่าเรือกลับไม่ทราบ ซึ่งไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งแผนอพยพชาวบ้าน
หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น รวมทั้งแผนการเผชิญเหตุ ผลกระทบหลังจากเกิดปัญหาแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งจนถึงวันนี้บริษัทตนเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นยังไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีแต่ท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้นที่ได้ออกมารับผิดชอบ และขอโทษประชาชน
โดยหลังจากนี้ขอให้ทางท่าเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งหมดมาหารือ พร้อมทั้งวางแผนการรับมือหากเกิดปัญหาขึ้นอีก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรที่จะมีมาตรการป้องกัน เพี่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราควรจะต้องมีวิธีการอย่างไรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อมได้ พร้อมทั้งมาตรการเผชิญเหตุที่รวดเร็ว และเป็นขั้นที่ชัดเจน โดยขอให้เอาเหตุการณ์สารเคมีรั่วที่ท่าบี 3 มาเป็นแนวทางในการแก้ไข
เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้วไม่มีใครที่ต้องการอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ในเมื่อเกิดขึ้นแล้วพวกเราทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทำงานกันอย่างเต็มที่หลังจากทราบเหตุ ซึ่งอาจจะล่าช้าเนื่องจากทางการท่าเรือเองก็รับทราบเหตุหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว อาจจะเป็นเพราะผู้ประกอบการคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาเองได้
แต่สุดท้ายพวกเราทุกฝ่าย ทั้งจังหวัด อำเภอ เทศบาล เจ้าท่า อุตสาหกรรมได้ออกมาร่วมมือกันวางแผน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสภาพแวดล้อมรอบท่าเรือแหลมฉบังน้อยที่สุด รวมทั้งการตัดสินใจร่วมกันในการนำเรือที่บรรทุกสารเคมีรั่วออกไปจัดการนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยนี้
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทางท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะผู้กำกับดูแลท่าเรือเอกชนต้องรับผิดชอบ ส่วนในเรื่องใครผิดถูกนั้นต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนทางท่าเรือฯ กำลังจะเรียกทางผู้ประกอบการเจราจาในเร็วๆ นี้
สำหรับกรณีที่หลังจากเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลแล้ว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทะเลบริเวณ แหลมฉบัง-อ่าวอุดม มีสีแดง-น้ำตาล และมีกลิ่นเหม็น ซึ่งทางชาวบ้านคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นจากที่มีสารเคมีรั่วดังกล่าว ซึ่งทางเทศบาลนครแหลมฉบัง ได้มาเก็บตัวอย่างน้ำไป 4 จุด โดยส่งให้ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาตรวจ
โดยผลการตรวจพบว่า เป็นปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ซึ่งเกิดจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน มีผลทำให้น้ำทะเลเป็นสีแดง เนื่องจากสาหร่ายในน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจึงทำให้มีปริมาณสาหร่ายที่หนาแน่น และจะไปกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องผ่านลงไปใต้น้ำได้ ทำให้พืชที่อยู่ใต้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสง และตายในที่สุด