xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย ทุจริตบิ๊กคมนาคม รายที่ 2 “เสถียร วงศ์วิเชียร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.ศ. 2552-2543 ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม
ย้อนรอย ทุจริตบิ๊กคมนาคมรายที่ 2 “เสถียร วงศ์วิเชียร” อดีตรองปลัด และอธิบดี หลายกรม ถูก “ป.ป.ช.” ตามล่าตัว ให้อัยการสงสุด ฟ้องคดีทุจริต “โครงการอู่เรือบริเวณแหลมฉบัง” ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างอู่แห้ง และขยายเวลาเช่าโดยมิชอบทำให้รัฐเสียหายมูลค่า 77 ล้าน หลังหลบหนี

วันนี้ (6 มี.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม นายเสถียร วงศ์วิเชียร วัย 79 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยในขณะนั้น และยังเป็นอดีตอธิบดีกรมทางหลวง อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า หลังจากที่ได้หลบหนีหมายจับของอัยการสูงสุด ในคดีที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดกรณีไต่สวนเรื่องการขยายสัญญาให้เช่าพื้นที่อู่เรือแหลมฉบังโดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียหายมูลค่า 77 ล้านบาท โดยจับตัวได้เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้รายงานให้ตนทราบแล้ว สำหรับกรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาไต่สวนข้อกล่าวหานายเสถียร กรณีเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ในการแก้ไขสัญญาให้เช่า พื้นที่อู่เรือของแหลมฉบัง ระหว่างการท่าเรือกับบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และเมื่อพิจารณาไต่สวนแล้วได้มีมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2555 ชี้มูลความผิดนายเสถียร ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) มาตรา 152 จึงได้ส่งฟ้องไปที่อัยการสูงสุด และได้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นพิจารณาสำนวนความผิดดังกล่าว กระทั่งวันที่ 13 ก.ย. 2556 คณะทำงานร่วมฯ ได้มีมติให้อัยการสูงสุด ดำเนินการสั่งฟ้อง ซึ่ง อสส. ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 ก.ย. 2556 ถึง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการนำตัวนายเสถียรไปให้ อสส. เพื่อสั่งฟ้อง แต่นายเสถียร หลบหนี จึงได้มีการออกหมายจับ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2556 ที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม หลังจากนายเสถียรหลบหนี ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ติดตามสืบหาตัวนายเสถียร ตามที่ศาลได้มีหมายจับ กระทั่งเมื่อเย็นวันที่ 5 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ชุดที่ติดตามได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมตัวนายเสถียรได้ที่ห้างสรรพสินค้า ย่านหัวหมาก หลังจากที่นายเสถียรได้หลบหนีมานาน และในวันที่ 6 มี.ค. นี้ อสส. ได้ดำเนินการสั่งฟ้องและส่งตัวไปดำเนินคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลได้ให้ประกันตัวเรียบร้อยแล้ว

สำหรับ นายเสถียร วงศ์วิเชียร เมื่อ พ.ศ. 2529 - 2533 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง, พ.ศ. 2535 -2537 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า และ พ.ศ. 2552 - 2543 ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม

เมื่อปี 2552 ได้ตั้ง “มูลนิธิโลจิสติกส์และการขนส่ง” เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ให้คนสนใจ มาคุยกันเรื่องโลจิสติกส์ โดยเน้นงานมหภาค มีการนำเสนอบทความ การประชุมเสนอแนะ และการจัดอบรมต่างๆ

ปัจจุบัน เป็นประธาน คณะกรรมการ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร และบริหารจัดการซัปพลายเชน ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตราย และกลุ่มสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นแช่แข็ง

มีรายงานว่า คดีนี้ คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สมัยนั้น ได้ทำหนังสือด่วนมาก ปี 2550 ถึง พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยนั้น ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรวมทั้งดำเนินการ และทำหนังสือด่วนมาก ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทำการสืบสวนกรณีการให้เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณแหลมฉบัง ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างอู่แห้ง และขยายเวลาเช่าโดยมิชอบ เนื่องจาก สตง. ได้ตรวจสอบพบว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานประกอบกิจการอู่เรือแก่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริเวณพื้นที่แหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 312 ไร่ 1 งาน 45 ตารางเมตร เพื่อประกอบกิจการซ่อมแซม ปรับปรุง ประกอบเรือ และกิจการตามสัญญา เลขที่ ท2/2533 ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2533 โดยมีการผลการตรววจสรุปคือ

1. สัญญาเช่ามีการแก้ไขข้อกำหนด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เช่า และการท่าเรือไม่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้เช่าไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเดิมในสัญญา ซึ่งทั้งนี้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าชื้นที่ในอัตราที่ต่ำกว่าผู้เช่ารายอื่นในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการแก้ไขข้อความในสัญญาเช่า จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี เป็นการให้สิทธิผู้เช่าดำเนินการต่อไปอีก 30 ปี โดยมีการคำนวณอัตราค่าเช่าล่วงหน้าแล้ว 30 ปี ต่อจากอายุสัญญาเดิม ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องเรียกหลักประกันการก่อสร้างจากผู้เช่า มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เช่ามีสิทธิเช่าเกิน 30 ปี ซึ่งการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีมติอนุมัติแก้สัญญาให้เช่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2541 การท่าเรือยังไม่เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ จากากรตรวจสอบ ปรากฏว่า นายเสถียร วงศ์วิเชียร ประธานคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาเช่านั้น นายเสถียรได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ยูนิไทย ผู้เช่าตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัทเรื่อยมาจนถึงในขณะที่พิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาเช่า ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ย่อมทราบความเป็นมาของโครงการมาแต่เริ่ม ถือว่ามีส่วนได้เสียในการทำสัญญากับการท่าเรือฯเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นการละเว้นหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีพฤติการณ์เชื่อว่า ส่อไปในทางทุจริตโดยมิชอบ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

2. ผู้เช่านำพื้นที่ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำผิดสัญญาเช่า จากการตรวจสอบปรากฏว่า บริเวณพื้นที่ที่ผู้เช่าได้รับสัมปทานประกอบกิจการอู่เรือ มีบริษัท คลัฟ-ยูนิไทย แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บริษัท ซียูอี แอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบการก่อสร้างแท่นสำรวจ โดยมาปรากฏหลักฐานว่า ผู้เช่าได้ทำหนังสือขออนุญาตจากการท่าเรือฯผู้ให้เช่าหรือไม่ เป็นการผิดสัญญาเช่าทำให้การท่าเรือได้รับความเสียหายจากการเรียกเก็บค่าเช่าตามสัญญา ปีละ 11 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 43 - 49 รวม 7 ปี รวม 77 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำกว่าผู้รายอื่นพื้นที่ใกล้เคียง

3. ผู้เช่ามีการเปลี่ยนแปลงภาคีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลโดยไม่แจ้งให้การท่าเรือทราบเป็นการผิดสัญญาจากการตรวจสอบ ปรากฏว่า บริษัท ฮิตาชิ โซเซน จำกัด ซึ่งเป็นภาคีผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ยูนิไทย ได้ถอนหุ้นออกไปหมดโอนให้ บริษัท ไอเอ็มซี แพน เอเชีย อัลลายแอนซ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2543 แต่บริษัท ยูนิไทย ไม่ได้แจงการเปลี่ยนแปลงภาคผู้ถือหุ้นให้การท่าเรือทราบ

โดย สตง. ได้อาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 12 จึงเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ 1. ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ความเสียหายตามข้อ 1

2. เห็นควรแจ้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ให้เช่าฟ้องเรียกผลประโยชน์ที่มิชอบจากผู้เช่าที่กระทำผิดสัญญาเช่าตามข้อ 2

3. เห็นควรแจ้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ให้เช่าดำเนินการตามควรกับกรณีผู้เช่าในการทำผิดสัญญาตามข้อ 3 และหากตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อ สตง. ภายในทุก 90 วัน ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 หากละเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดจะมีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63 พ.ร.บ. เดียวกัน และจะแจ้งให้นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม. รับทราบ

ต่อมา ป.ป.ช. มีมติชี้ความผิดการให้เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างอู่แห้ง และขยายเวลาเช่าโดยมิชอบ โดยตรวจสอบพบว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานประกอบกิจการอู่เรือแก่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมี นายเสถียร วงศ์วิเชียร ประธานคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาเช่า โดยพบว่ามีส่วนได้เสียในการทำสัญญากับการท่าเรือฯเข้าลักษณะต้องห้ามมิ ให้เป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่อไปในทางทุจริตโดยมิชอบ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ก่อนถูกศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติออกหมายจับดังกล่าว

รายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2557 ศาลแพ่ง ได้อ่านคำสั่งคดียึดทรัพย์ หมายเลขดำ ที่ ปช. 1/2555 ที่อัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 55 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กับพวก ซึ่งเป็นเครือญาติ 7 คน ผู้คัดค้าน อาทิ เงินสด เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รวม 9 บัญชี เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง โฉนดที่ดินย่านต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บ้านพัก รถยนต์ ห้องชุด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน

โดย พิพากษาว่า ให้ทรัพย์สินรวม 19 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 46,141,038.83 บาท ของ นายสุพจน์ กับพวก พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้นายสุพจน์ส่งมอบทรัพย์สิน และเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมดอกผลให้แก่แผ่นดิน โดยผ่านกระทรวงการคลัง หากไม่สามารถดำเนินการให้ทรัพย์สินใดได้แก่แผ่นดิน ให้นายสุพจน์ชดใช้เงิน หรือโอนทรัพย์สินตามจำนวนมูลค่าที่ยังขาดอยู่แก่แผ่นดินจนครบ



ปัจจุบัน เป็นประธาน คณะกรรมการ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น