xs
xsm
sm
md
lg

รวบอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าวัย 79 ปีกลางห้างย่านรามคำแหงเหตุทุจริตเอื้อผลประโยชน์นายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - รวบอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าวัย 79 ปี กลางห้างย่านรามคำแหง หลังเคยเป็นผู้อนุมัติให้เช่าพื้นที่อู่เรือแหลมฉบัง โดยมีการแก้ไขเงื่อนไขสัญญา ส่อทุจริตเอื้อผลประโยชน์กับนายทุน สร้างความเสียหาย 77 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.หัวหมาก และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้ร่วมกันจับกุมตัวนายเสถียร วงศ์วิเชียร อายุ 79 ปี อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า ตามหมายศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 665/2556 ลงวันที่ 20 ก.ย.56 ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น โดยจับกุมได้ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านรามคำแหง ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม.

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติชี้ความผิดการให้เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างอู่แห้ง และขยายเวลาเช่าโดยมิชอบ โดยตรวจสอบพบว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานประกอบกิจการอู่เรือแก่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีนายเสถียร วงศ์วิเชียร ประธานคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาเช่า โดยพบว่ามีส่วนได้เสียในการทำสัญญากับการท่าเรือฯเข้าลักษณะต้องห้ามมิ ให้เป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่อไปในทางทุจริตโดยมิชอบ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ก่อนถูกศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติออกหมายจับดังกล่าว

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ปปช. ได้นำตัวผู้ต้องหาส่งศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้อัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หลังจากที่นายเสถียรได้หลบหนีมานาน และในวันนี้ ได้ดำเนินการสั่งฟ้องและส่งตัวไปดำเนินคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลได้ให้ประกันตัวเรียบร้อยแล้ว

ส่วนสาเหตุ จากกรณีการให้เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณแหลมฉบัง ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างอู่แห้ง และขยายเวลาเช่าโดยมิชอบ เนื่องจาก สตง.ได้ตรวจสอบพบว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้สัมปทานประกอบกิจการอู่เรือแก่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริเวณพื้นที่แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 312 ไร่ 1 งาน 45 ตารางเมตร เพื่อประกอบกิจการซ่อมแซม ปรับปรุง ประกอบเรือ และกิจการตามสัญญา เลขที่ ท2/2533 ลงวันที่ 18 ธ.ค. 33 โดยมีผลการตรวจสรุปคือ

1. สัญญาเช่ามีการแก้ไขข้อกำหนด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เช่า และการท่าเรือ ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้เช่าไม่สามารถ ปฏิบัติตามข้อกำหนดเดิมในสัญญา ทั้งนี้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่าที่ในอัตราที่ต่ำกว่าผู้เช่ารายอื่นในบริเวณเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการแก้ไขข้อความในสัญญาเช่า จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี เป็นการให้สิทธิผู้เช่าดำเนินการต่อไปอีก 30 ปี โดยมีการคำนวณอัตราค่าเช่าล่วงหน้าแล้ว 30 ปีต่อจากอายุสัญญาเดิม ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องเรียกหลักประกันการก่อสร้างจากผู้เช่า มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เช่ามีสิทธิเช่าเกิน 30 ปี ซึ่งการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีมติอนุมัติแก้สัญญาให้เช่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 41 และการท่าเรือฯยังไม่ เสนอรมว.คมนาคม พิจารณาให้รอบคอบก่อน และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.

นอกจากนี้จากการตรวจสอบปรากฏว่า นายเสถียร วงศ์วิเชียร ประธานคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาเช่านั้น นายเสถียรได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ยูนิไทยฯ ผู้เช่าตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัทเรื่อยมาจนถึงในขณะที่พิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาเช่า ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ย่อมทราบความเป็นมาของโครงการมาแต่เริ่ม ถือว่ามีส่วนได้เสียในการทำสัญญากับการท่าเรือฯ เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นการละเว้นหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีพฤติการณ์เชื่อว่าส่อไปในทางทุจริตโดยมิชอบ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

2. ผู้เช่านำพื้นที่ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำผิดสัญญา เช่า จากการตรวจสอบปรากฏว่า บริเวณพื้นที่ ที่ผู้เช่าได้รับสัมปทานประกอบกิจการอู่เรือมีบริษัท คลัฟ-ยูนิไทย แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บริษัท ซียูอี แอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบการก่อสร้างแท่นสำรวจ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้เช่าได้ทำหนังสือขออนุญาตจากการท่าเรือฯ ผู้ให้เช่าหรือไม่ เป็นการผิดสัญญาเช่า ทำให้การท่าเรือฯได้รับความเสียหายจากการเรียกเก็บค่าเช่าตามสัญญา ปีละ 11 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 43-49 รวม 7 ปี รวม 77 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำกว่ารายอื่นพื้นที่ใกล้เคียง

3. ผู้เช่ามีการเปลี่ยนแปลงภาคีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคล โดยไม่แจ้งให้การท่าเรือทราบ เป็นการผิดสัญญาจากการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัท ฮิตาชิ โซเซน จำกัด ซึ่งเป็นภาคีผู้ถือ หุ้นเดิมของบริษัท ยูนิไทยฯได้ถอนหุ้นออกไปหมดโอนให้ บริษัท ไอเอ็มซี แพน เอเชีย อัลลาย แอนซ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 43 แต่บริษัทยูนิไทยฯไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงภาคผู้ถือหุ้นให้การท่าเรือทราบ

สตง.ได้อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 จึงเห็นควรให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการคือ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้ความเสียหายตามข้อ 1 และเห็นควรแจ้งการท่าเรือฯ ในฐานะผู้ให้เช่าฟ้องเรียกผลประโยชน์ที่มิชอบจากผู้เช่าที่กระทำผิดสัญญาเช่าตามข้อ 2 รวมทั้งเห็นควรแจ้งการท่าเรือฯ ในฐานะผู้ให้เช่าดำเนินการตามควรกับกรณีผู้เช่าในการทำผิดสัญญาตามข้อ 3

หากตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อ สตง. ภายในทุก 90 วัน ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 หากละเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดจะมีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63 พ.ร.บ. เดียวกัน และจะแจ้งให้นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม. ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น