xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายแรงงานชง สนช.ยกเลิกตัดสิทธิ์ว่างงาน ระบุ สปส.ไม่ร่วมจ่ายไม่มีสิทธิ์ตัดทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือนายกฯ - สนช.- กมธ. ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม - รมว.แรงงาน จี้ยกเลิกตัดสิทธิ์ว่างงานหากลาออกเอง ชี้เงินสมทบกรณีว่างงานจ่ายแค่ฝ่ายนายจ้าง - ลูกจ้าง รัฐไม่ได้ร่วมจ่ายไม่มีสิทธิ์ตัดทิ้ง

 
 
วันนี้ (9 ก.พ.) นายภาคภูมิ สุกใส กรรมการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนประกันสังคม (คปค.) เปิดเผยว่า วันนี้เครือข่ายได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม และตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยขอให้ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ซึ่งผ่านวาระแรก และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญซึ่งมีการเขียนตัดสิทธิ์ผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงาน โดยคปค. ขอให้ยกเลิกการตัดสิทธิ์กรณีว่างงานหากผู้ประกันตนลาออกจากงานเองและให้คืนสิทธิ์โดยกลับไปใช้เนื้อหาเดิมของพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ พ.ศ. 2533 ซึ่งประธาน สนช. เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ คปค. ทั้งนี้ ไม่ได้ขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ทั้งฉบับ ส่วนที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอแก้ไขเพิ่มเติม 14 ประเด็น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนก็ให้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
 
นายภาคภูมิ กล่าวอีกว่า สปส. ไม่มีสิทธิ์เขียนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมโดยตัดสิทธิ์ว่างงานกรณีลาออกจากงานเอง เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายแรงงานและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร้อยละ 5 โดยในจำนวนนี้ทั้งสองฝ่ายจ่ายเงินสบทบกรณีว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่ฝ่ายรัฐไม่ร่วมจ่ายเงินสบทบในส่วนนี้ นอกจากนี้ กรณีที่สปส. อ้างว่าตัดสิทธิ์กรณีว่างงานเพื่อต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่กองทุนในอนาคต คปค. เห็นว่า การใช้สิทธิ์ว่างงานกรณีลาออกเองของแรงงานไม่ได้ส่งผลกระทบ เพราะแรงงานที่ลาออกจากงานเองส่วนใหญ่ มักจะไม่ใช้สิทธิ์กรณีว่างงาน เพราะไม่อยากว่างงานเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนแรงงานที่ใช้สิทธิ์ว่างงานมักเป็นแรงงานที่ลาออกโดยถูกนายจ้างบีบบังคับให้ลาออก ซึ่งเป็นการลาออกแบบผิดธรรมชาติและแรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายในยามว่างงาน โดยในปี พ.ศ. 2555 - 2557 ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์กรณีว่างงานรวมแล้วเป็นวงเงินแค่กว่า 178 ล้านบาท
 
“แรงงานทำประกันสังคมก็เหมือนกับทำประกันชีวิต พวกเราส่งเงินกันมาตั้งนาน อยู่ๆ สปส. ก็มาตัดสิทธิ์ว่างงานออกหากลาออกจากงานเอง ทำให้ได้สิทธิประกันสังคมที่มีอยู่เดิมลดลง การทำเช่นนี้จะทำให้แรงงานขาดเงินประทังชีวิตในยามตกงาน หากถูกนายจ้างบีบบังคับให้ลาออกจากงานแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในช่วงชีวิตลำบาก หาก สปส. ต้องการจะประหยัดเงินกองทุนก็ควรตัดรายจ่ายที่เป็นโครงการฟุ่มเฟือยออกไป เช่น โครงการไปดูงานต่างประเทศ โครงการประชาสัมพันธ์ ซึ่งรวมแล้วใช้งบปีละหลายร้อยล้านบาท” นายภาคภูมิ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น