xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ลงพื้นตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง ดูความก้าวหน้าการดำเนินงาน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “อาคม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง รับฟังแนวทางการพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาถนนทางหลวงชนบท และระบบลอจิสติกส์ รองรับ AEC พร้อมแนะให้ขอความร่วมมือ คสช.ร่วมลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับประชาชน


วันนี้ (28 ก.พ.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจราชการ ดูความก้าวหน้าการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมทั้งตรวจความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาจราจร บริเวณภายนอกท่าเรือแหลมฉบัง โครงข่ายถนน ของกรมทางหลวง ของกรมทางหลวงชนบท โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวในการบรรยายสรุป ว่า โครงการของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนระบบการขนส่งของประเทศ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้น 3 ซึ่งตามแผนการดำเนินงาน ควรจะเปิดให้บริการเมื่อมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือประมาณ 80% ของวิสัยสามารถสูงสุดของท่าเรือ คาดว่าจำนวนตู้สินค้าจะถึงจุดนั้นในปี 2568 ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ควรเปิดให้บริการประมาณปี 2568 แต่ในปัจจุบันโครงนี้ต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากยังติดปัญหาการคัดค้านโครงการจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ในขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการจัดทำ EHIA ได้

2.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่แหลมฉบังโดยดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าให้สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ไม่น้อยกว่า 6-8 ราง รวมทั้งการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่จากสถานีแหลมฉบังเข้าสู่พื้นที่โครงการ ระยะทางประมาณ 3.4 กม. ภายในปี 2560 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะได้รับการเห็นชอบในปี 58

3.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเป้าหมายต้องการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยใบ้งบประมาณการลงทุนของการท่าเรือทั้งหมด

4.โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก และแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาจราจรทั้งภายใน และภายนอกท่าเรือได้เป็นอย่างดี เมื่อโครงการเสร็จจะมีจำนวนช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้ารวม 31 ช่องทาง จะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือที่ระดับ 10-11 ล้านทีอียู/ปี จะเพียงพอต่อการองรับตู้สินค้าผ่านท่าเรือในอีก 8-10 ปีข้างหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง ว่า เพื่อพาคณะมาดูการพัฒนาของการท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมรองรับประชาคมอาเซียน ในการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของท่าเรือฯ และการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด

​สำหรับการท่าเรือแหลมฉบังนั้น มี 4 โครงการจะต้องผลักดัน และให้เกิดขึ้นโดยเร็วในปีนี้เป็นต้นไป เช่น 1.โครงการศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,944 ล้านบาท เพื่อจัดระบบ และระเบียบการขนส่งสินค้า และขบวนรถไฟที่มีอยู่แล้วมาใช้ร่วมกันให้ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี และบอร์ดสภาพัฒน์ก็มีความเห็นในส่วนหนึ่งซึ่งจะต้องปรับรูปแบบอีกเล็กน้อย 2. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 8,400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษา และประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมไว้ให้เปิดบริการในทันในปี 2564

โดยปัญหาการขยายนั้นมีประชาชนออกมาคัดค้านซึ่งจะต้องทำความเข้าใจต่อประชาชนให้มากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้กับท่าเรือ ต้องดูแลประชาชนให้รู้สึกว่าเราไม่ได้เอาพื้นที่ของเขาไป แต่หากจำเป็นอาจจะต้องให้ คสช.เข้ามาช่วยเหลือ และทำความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อประชาชนเพิ่มเติมด้วย

​3.โครงการท่าเรือชายฝั่ง A โดยมีมูลค่าประมาณ 1,864 ล้านบาท เพื่อสนองต่อเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง โดยเฉพาะจากท่าเรือสุราษฎร์ธานี เพื่อนำสินค้ามาแหลมฉบัง เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ และ 4.โครงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือแหลมฉบัง เช่น ทำสะพานข้ามแยก ขยายพื้นผิวจราจร และการขยายประตูผ่านเข้าภายในท่าเรือ 1-2-3 ซึ่งใช้งบลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งได้ผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะเริ่มในเร็วๆ นี้

​นายอาคม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังฝากการท่าเรือแหลมฉบัง ในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป เพื่อเป็นการยกระดับของท่าเรือ เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ หรือด้านคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการเพื่อลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้า นอกจากนั้น ด้านจัดระบบนิเวศ ด้านทะเล โดยจะปรับปรุงสัตว์น้ำเพื่อให้คู่กับการท่าเรือแหลมฉบังได้

​สำหรับโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือปัญหาทางด้านการจราจรที่ติดขัดในขณะนี้ คือ กรมทางหลวง และทางหลวงชนบท โดยกรมทางหลวง มีโครงการขยายพื้นผิวจราจร ทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 และทางหลวงจะเชื่อมหมายเลข 7 เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีมูลค่าการลงทุน จำนวน 25,000 ล้านบาท โดยจะทยอยเปิดถนนบริเวณดังกล่าวประมาณปลายปี 2558 นี้ ส่วนทางหลวงชนบทนั้นจะมีส่วนสนับสนุนในการเพิ่มประสิทธิภาพบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 3,000 ล้านบาท

เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางในการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง มาลงท่าเรือแหลมฉบังให้รวดเร็วขึ้น เพราะจากข้อมูลของการท่าเรือแหลมฉบังนั้น คาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าหากเป็นไปตามที่ประมาณการไว้โตขึ้น 5% หากไม่รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2564 แล้ว จะส่งผลกระทบต่อการรองรับตู้สินค้าอย่างแน่นอน จึงต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้นภายในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 นี้




กำลังโหลดความคิดเห็น