“บิ๊กตู่” รับทราบ 548 อำเภอทั่วประเทศวิกฤตขาดแคลนน้ำ จังหวัดตอนบนเขื่อนเจ้าพระยาเสี่ยง! สั่งรื้อแผนที่น้ำใหม่หมด พบน้ำใน 4 เขื่อนหลักขณะนี้มีปริมาณน้ำ 3,826 ล้านลูกบาศก์เมตร สั่งศึกษาผันน้ำ ในและนอกประเทศ เล็งผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล ย้ำทุกภาคส่วนใช้จิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัด
วันนี้ (11 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ( กนช.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายสมนึก สุขช่วย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ คณะผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้นนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงสถานการณ์ภัยแล้งภายหลังการประชุมว่า พบว่ามี 548 อำเภอจาก 928 อำเภอทั่วประเทศที่เข้าข่ายเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักขณะนี้มีปริมาณน้ำ 3,826 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าจะอยู่ในขั้นวิกฤตแต่จากภาพรวมของการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้คาดว่าน่าจะไม่เกิน 2 ล้านไร่ น้อยกว่ายอดการปลูกปีที่ผ่านมาซึ่งมี 3 ล้าน 7 แสนไร่ ทำให้มั่นใจได้ว่าพื้นที่การเกษตรจะไม่เสียหายมากเหมือนในปีที่ผ่านมา ขณะที่จังหวัดที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คือ จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ตอนบนเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากเสี่ยงขาดแคลนน้ำ
ส่วนแนวทางการผันน้ำนั้น ที่ประชุม กนช.ลงมติให้กรมชลประทานไปดำเนินการศึกษาวิธีการ โดยแนวทางจะมีทั้งการผันน้ำทั้งจากในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2559 การควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่วิกฤตการรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน การเตรียมการเรื่องแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร แผนการเตรียมการเพื่อรองรับในอนาคต การส่งเสริมการจัดการน้ำในภาวะวิกฤตเพื่อระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ การร่างข้อตกลงโครงการ Technical Assistance of Sewage Technology in Collaboration with Public and Private Sectors in Thailand ระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียกับหน่วยงานระบายน้ำของประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ยังมีรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ, กรมฝนหลวง และการบินเกษตร, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กองทัพบก, กรมชลประทาน ฯลฯ โดยในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น การซ่อมระบบประปา การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมในแหล่งน้ำดิบชุมชนเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และการแจกจ่ายน้ำสะอาดให้แก่ชุมชนลดความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้หลายพื้นที่
https://www.youtube.com/watch?v=D7x-VUO8kr8
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ว่า ในที่ประชุมได้มีการสรุปถึงน้ำต้นทุน โดยตนได้สอบถามถึงปริมาณน้ำที่มี ทั้งในเขื่อนและนอกเขื่อน รวมถึงอ่างเก็บน้ำทั้งหมด เราได้จัดทำแผนที่น้ำใหม่ให้สมบูรณ์ขึ้น สร้างการรับรู้ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ขณะนี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำ ทั้งเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบริหารจัดการน้ำให้มากที่สุด และร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ตนเข้าใจดีว่าไม่สามารถที่จะไปสั่งได้ แต่อยู่ที่จิตสำนึกของทุกคนที่จะทำอย่างไร เมื่อปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยกว่าทุกปี ซึ่งภาคการเกษตรมีความจำเป็นในการใช้น้ำอยู่
"ถึงเราจะชี้แจงอย่างไร ต้องเห็นใจเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องการเช่าที่ คือ อย่างไรคนเหล่านี้ต้องปลูกเพราะถ้าไม่ทำอะไร เจ้าของที่ก็จะให้คนอื่นเช่า นี่คือสิ่งที่จะต้องสร้างจิตสำนึก ส่วนเรื่องราคาก็เกี่ยวพันกับการใช้หนี้สิน นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาภายใน ไม่ใช่ว่าทุกคนเรียกร้องให้ปล่อยน้ำ ให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ผมไม่ได้อยากไปยุ่งในรายละเอียดขนาดนั้น มันจำเป็นต้องรื้อทั้งระบบ เพราะฉะนั้นต้องมีผลกระทบบ้าง การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ง่ายๆ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว