กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการ 2 เขื่อนยักษ์เมืองกาญจนบุรี “เขื่อนศรีนครินทร์” และ “เขื่อนวชิราลงกรณ” ยันเป็นเสียงเดียวกัน น้ำในเขื่อนมีเหลือสำหรับภาคเกษตรแค่ 200 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น แนะเกษตรกรหันปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน วอนหยุดทำนาปรังเด็ดขาด
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ห้องประชุม 2 อาคารสำนักงานเขื่อนศรีนครินทร์ หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นายวีระศักดิ์ ศรีกาวี ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ นายประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ทรัพยากรน้ำภาค 7 พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขื่อนศรีนครินทร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงเขื่อนวชิราลงกรณ และ พ.อ.เรืองศักดิ์ อรรคทิมากูล รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 พ.อ.สมจิตร คำประพันธ์ หัวหน้าสำนักงานผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (หน.สง.ผบ.พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ ร่วมประชุมเพื่อหารือเรื่องแนวทางการประชาสัมพันธ์การบริหารการจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองให้มีประสิทธิภาพ มี นายพิศิษฐ์ ยินดีวี เครือข่ายประชาชนภาคประชาสังคม จ.กาญจนบุรี พร้อมทีมงานเข่าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น
นายประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ กล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานได้มีการพูดถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ผลสรุปพบว่า ปริมาณน้ำที่เหลือใช้ในลุ่มน้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2558 ที่เขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันมีน้ำใช้งานได้จำนวน 2,613 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.94% ส่วนที่เขื่อนวชิราลงกรณ ปัจจุบันมีน้ำใช้งานได้จำนวน 2,577 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44.06%
โดยปริมาณน้ำจากทั้ง 2 เขื่อนที่ระบายลงสู่แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 5,190 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน วันที่ 31 ต.ค.2558 กรณีน้ำน้อยที่สุดอยู่ที่จำนวน 4,433 ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีน้ำน้อย อยู่ที่จำนวน 5,333 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อนำมาเฉลี่ยกันจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่จะนำไปใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 5,752 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ ประชาชน และเกษตรกรจะต้องร่วมกันประหยัดน้ำอย่างสูงสุด
นายวีระศักดิ์ ศรีกาวี ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับเขื่อนศรีนครินทร์ มีระดับอยู่ที่ประมาณ 167.22 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 35% ซึ่งประมาณวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ก็จะหมดฤดูฝนแล้ว ดังนั้น จะต้องมาดูว่าการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี พ.ศ.2559 จะเป็นอย่างไร
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง เราจะดูจำนวนน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันน้ำที่สามารถระบายได้มีอยู่จำนวน 5,190 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้วว่า ปริมาณน้ำที่สามารถระบายได้จำนวน 5,190 ล้านลูกบาศก์เมตร จะต้องกับเก็บไว้ใช้ในช่วงก่อนถึงฤดูฝนในปี 2559 ประมาณ 2,700 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 1600 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะต้องมีการจัดสรรน้ำให้แก่การประปานครหลวงอีก 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อนำตัวเลขมารวมกันแล้วจะทำให้เราเหลือน้ำที่จะนำไประบายให้แก่ภาคการเกษตรที่อยู่ลุ่มน้ำแม่กลองเพียงแค่ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก
“เพราะฉะนั้นจะต้องประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องภาคเกษตรกรให้หยุดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน และจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารจากกรมชลประทานเป็นหลัก” ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ กล่าว