xs
xsm
sm
md
lg

“โขง ชี มูล” มหากาพย์ของคนอีสาน ปัญหาเก่ายังไม่แก้ ปัญหาใหม่กำลังคืบคลานมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โขง ชี มูล” มหากาพย์ของคนอีสาน
ปัญหาเก่ายังไม่แก้ไข ปัญหาใหม่กำลังคืบคลานมา

โดย....เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 59 ที่ประชุมคณะทรัพยากรน้ำอนุมัติหลักการผันน้ำเข้าลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อดูแลบริหารจัดการให้เพียงพอ ด้านอธิบดีกรมชลประทานยืนยันมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้ ซึ่งมีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีการหารือผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ และการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้

ในจำนวน 928 อำเภอ มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น 548 อำเภอ คิดเป็น 59% ของทั้งหมด และขาดแคลนน้ำนับตั้งแต่วันนี้-สิ้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาจะเน้นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และจะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ ขณะเดียวกันต้องมีการเจาะน้ำบาดาล

ส่วนในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำในเขื่อน ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยผันน้ำจากทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนเขื่อนภูมิพลยังมีพื้นที่ว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 4 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งที่ประชุมได้มีการอนุมัติหลักการแล้ว จากนี้จะต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี

ในขณะภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการใช้น้ำในลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งติดกับแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีการก่อสร้างประตูน้ำในการผันน้ำในส่วนนี้ไว้แล้ว คาดว่าเฟสแรกจะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ถึง 3 แสนไร่ และสามารถดำเนินการได้เลย โดยใช้เวลาภายในปี 50-60

ทั้งนี้ หากเป็นการใช้น้ำช่วงฤดูฝนสามารถใช้ได้ แต่น้ำฤดูแล้งต้องมีข้อตกลงกันระหว่างประเทศ ในที่ประชุมจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันเพื่อหารือในส่วนนี้ เนื่องจากการใช้น้ำจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และไทย

ล่าสุดวันนี้ (14 ม.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โครงการพัฒนาการใช้น้ำลุ่มน้ำโขง จ.หนองคาย และ จ.ขอนแก่น รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาการใช้น้ำลุ่มน้ำโขง จ.อุดรธานี-หนองคาย ณ ประตูระบายน้ำห้วยหลวง ต.จุมพล จ.หนองคาย ตรวจเยี่ยมสถานีสูบน้ำชั่วคราวห้วยหลวง และรับฟังสรุปบรรยายโครงการ ณ สถานีสูบน้ำชั่วคราวห้วยหลวง ต.วัดหลวง จ.หนองคาย ตรวจเยี่ยมสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง ณ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง จ.หนองคาย และเวลา 14.00 น. จะเป็นประธานพิธีปล่อยปลา จำนวน 1 ล้านตัว ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานมองว่า กระบวนการของรัฐมนตรีที่ลงมาพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนัยแอบแฝงที่เกี่ยวข้องกับการที่จะฟื้นโครงการโขง ชี มูล เดิม ซึ่งเป็นโครงการที่มักกล่าวอ้างว่าอีสานแล้งซ้ำซาก” จึงกลายเป็นช่องทางของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องน้ำหาช่องว่างในการนำเสนอโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตลอดมา

อย่างเช่น “โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล” นับเป็นโครงการมหากาพย์การพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสานโดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม บทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ในอีสานกว่า 40 ปี แทบจะเป็นบทสรุปความล้มเหลวในทุกโครงการ ได้แก่ โครงการโขง-ชี-มูล เขื่อนปากมูล โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการน้ำแก้จน ฯลฯ

ผลที่เกิดจากโครงการเหล่านี้ได้ทำให้ระบบนิเวศ โดยเฉพาะการขุดลอกแหล่งน้ำสำคัญของอีสานพังพินาศไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ การแพร่กระจายของดินเค็ม การสูญเสียที่ดินทำกิน การสูญเสียพันธุ์ปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาและรอการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้มามากกว่า 20 ปี และผ่านมาแล้วมากกว่า 10 รัฐบาล

โครงการบางแห่งก็กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวประจานผลงานภาครัฐ บทเรียนและงบประมาณรัฐหลายแสนล้านบาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าและสร้างปัญหามากมายในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ทบทวนแนวทางรูปแบบโครงการแต่อย่างใด

กลับจะเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่โดยละเลยกระบวนการและขั้นตอนที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญและติดตามมาตลอด และยังวนเวียนซ้ำซากกับโครงการแบบเดิมๆ ที่เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เงินมากขึ้น และสร้างผลกระทบมากขึ้น

การเดินทางลงพื้นที่ของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ครั้งนี้ เป็นการลงมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านหรือมาเพิ่มปัญหาให้ชาวบ้านกันแน่ หลากหลายพื้นที่ในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำยังประสบปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจากนโยบายของรัฐ เช่น พื้นที่เขื่อนราศีไศล เขื่อนในลุ่มน้ำชี เขื่อนปากมูล เป็นต้น

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานขอแสดงจุดยืน คือ

1. ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล เนื่องจากประชาชนทั้งภาคอีสาน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ไม่ได้แสดงความคิดเห็นและเปิดให้มีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งให้โอกาสประชาชนได้เสนอทางเลือกอันหลากหลาย ในการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับระบบนิเวศอีสานทั้งหมด

ประกอบไปด้วย พื้นที่ทาม ทุ่ง โคก ภู ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละพื้นถิ่นและสามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้อง มีความยั่งยืนกว่า การบริหารจัดการง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นที่จะต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ หรือใช้แม่น้ำระหว่างประเทศเลย กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรสร้างภาพ บิดเบือน และสมรู้ร่วมคิดกับภาคประชาชนจอมปลอม ทำการรวบรัดตัดตอนดำเนินโครงการ โดยออกแบบกำหนดรูปแบบวิธีการทางวิศวกรรมทั้งหมดเอาไว้แล้ว โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน

รัฐจึงควรจะให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่ใช่มีส่วนร่วมเพียงแค่ทำไปตามรูปแบบขั้นตอนให้เสร็จๆ ไปตามกฎหมายทั้งที่ได้กำหนดทุกอย่างเอาไว้แล้ว ประชาชนคนอีสานไม่ควรถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด และนำความหายนะมาให้เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

2. ก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการที่รัฐจะดำเนินโครงการผันน้ำโขง ชี มูล

3. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสานยังสนับสนุนแนวทางและกระบวนการจัดการน้ำในรูปแบบของชุมชนที่เข้าถึงทรัพยากร อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ตามสิทธิการจัดการทรัพยากรน้ำโดยไม่เบี่ยงเบนจากหลักการของการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น