xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง "เครือข่ายรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว เชียงราย" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดการน้ำแห่งที่10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีเปิด พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิด"เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย" เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ต่อยอดการเรียนรู้เรื่องน้ำแห่งที่ 10 ของประเทศ หลังนำแนวพระราชดำริฯ แก้ปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมจนกลับมาอุดมสมบูรณ์สำเร็จ

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิด "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย" ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 โดยมีส่วนราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการตามแนวพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีอยู่มากมายให้คนไทยน้อมนำไปใช้กับพื้นที่ของตัวเองเพราะนอกจากจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผล ทุกโครงการยังมีการสอดแทรกคำสอนให้คนรู้จักการจัดการและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

"คนเราถ้าไม่มีดิน น้ำ ป่า มีแต่เงินก็ไปไม่รอด เราถึงต้องใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง โครงการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหันมาดูแลจัดการตัวเองโดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐฯ เพราะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการใส่ใจทรัพยากรที่อยู่รอบตัว รู้จักมองปัญหา แล้วนำแนวทางของพระองค์ผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริมาปรับใช้ แล้วลงมือทำด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนผ่านแผนงานแบบง่ายๆ และขยายผลออกไปยังชุมชนข้างเคียง" ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว

นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว ในอดีตประสบปัญหานายทุนเข้าสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ตัดต้นไม้ใหญ่ ทำให้สายน้ำแม่โถซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลาวมีสีแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ชุมชนจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนรักษ์ป่า” เมื่อปี 2548 เพื่อช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ลาวร่วมกัน และได้ขยายเครือข่ายเป็น 10 หมู่บ้านพร้อมพัฒนาเป็น “เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว" ในปี 2550

จนถึงปี 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ โดยการให้ข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการฟื้นฟูป่า ทั้งการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), เครื่องระบุพิกัด (GPS) ประกอบกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ได้เข้ามาร่วมกับชุมชนในการสำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมทั้งเก็บข้อมูล จัดทำแผนที่เครือข่าย จนชุมชนสามารถขอคืนพื้นที่ทำกิน 20% ของพื้นที่ติดกับป่าไม้ ได้ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมากว่า 2,000 ไร่ได้สำเร็จเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายอินแหลง ยังเผยด้วยว่าปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาวได้ขยายผลการขับเคลื่อนงานจัดการน้ำชุมชนจนครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาวกว่า 2.5 แสนไร่ ใน 41 ชุมชน 4 รวม 291 ลำห้วย ผ่านการสร้างฝายภูมิปัญญา 2,528 ฝาย, การสร้างแนวกันไฟป่าต้นน้ำเครือข่าย ระยะทางรวม 103.58 กิโลเมตร, การตั้งหน่วยเฝ้าระวังภัยพิบัติเครือข่าย ร่วมกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ รวมถึงการสร้างกลุ่มเยาวชน “ละอ่อนฮักน้ำลาว” เพื่อเป็นผู้ช่วยงานเครือข่ายฯ ในด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร ควบคู่กับการปลูกต้นไม้เสริมป่า

"หลังจากเราน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ คู่กับการสนับสนุนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์โดย สสนก.และมูลนิธิ ทำให้ป่าต้นน้ำของเรากลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ชาวบ้าน14 ชุมชน กว่า 2,800 คนก็ได้รับประโยชน์ เพราะทำการเกษตรได้ผล เพราะนอกจากมีน้ำที่ดีเรายังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นรูปแบบ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 ประการตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน จนชาวบ้านมีรายได้ตลอดปีด้วย"

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงตั้งให้เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” แห่งที่ 10 เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จ ของการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นต่อไป
ร่วมเปิดพิพิธภัณฑ์จัดการน้ำชุมชนกับชาวบ้านในพื้นที่
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์  ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด
นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว กล่าวถึงปัญหาน้ำในชุมชน
ดร.สุเมธ ลงพื้นที่ดูแนวทางการจัดการน้ำ
ดร.สุเมธ ลงพื้นที่ดูแนวทางการจัดการน้ำ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมพูดคุยกับผู้ว่าการจังหวัดเชียงรายถึงการรับมือกับปัญหาน้ำ
กลุ่มเยาวชน “ละอ่อนฮักน้ำลาว”









กำลังโหลดความคิดเห็น