xs
xsm
sm
md
lg

"แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” ช่วย ตร.ลดค่าน้ำมันได้ 13 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากจังหวัดที่ห่างไกลและเต็มไปด้วยขุนเขา และการเดินทางอันยากลำบากที่ต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยวเกือบ 2,000 โค้ง ทำให้รายได้ประชากรใน จ.แม่ฮ่องสอนไม่สูงนัก จนเกิดแนวคิดนำไอทีไปช่วยสร้างงานและสร้างเงินให้แก่ชาวเมืองสามหมอก แม้วันนี้โจทย์ใหญ่คือการสร้างงานในพื้นที่ แต่ประโยชน์ของไอทีที่เห็นผลแล้วคือช่วยตำรวจลดค่าใช้จากการนำส่งผู้ต้องหาได้ถึง 13 ล้านบาท

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้นำความรู้ด้านไอทีไปถ่ายทอดแก่ชาว จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรไม่สูงนัก ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องที่ตั้งและการเดินทาง และเกิดเป็นโครงการ “แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” อย่างเป็นทางการมาร่วม 6 ปี

การดำเนินงานของเนคเทคพร้อมหน่วยงานในท้องถิ่นและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจากภายนอก อาทิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่งผลให้โครงการดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 2557

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทคเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงผลสำเร็จของโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ว่า เห็นเด่นในโรงเรียนและหน่วยงานราชการ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์พื้นฐานอย่างเครื่องส่งสัญญาณไวแมกซ์ (WiMax) ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ย่านความถี่ 2.4 GHz ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการกระจายแสียง กิจการโทรทัศน์ แลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับใช้ทดลอง

หลังจากการไปเยี่ยมการดำเนินโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์อีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ศรัณย์ได้เผยถึงตัวอย่างผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือการใช้งานไอทีของตำรวจ ซึ่งใช้ไอทีเพื่อการสื่อสารกับศาล ทำให้ไม่ต้องขนส่งผู้ต้องหาไปมาระหว่างศาลที่มีเส้นทางสัญจรที่ลำบาก โดยสามารถฝากขังที่โรงพัก ช่วยให้ตำรวจประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 13 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี เนื่องจากลดการเดินทางจากคดีที่มีได้ถึง 50%

“เป้าหมายของโครงการต่อจากนี้คืออยากให้มีการสร้างงานจากในพื้นที่ ไม่ใช่งานที่เข้ามาจากข้างนอก และอยากให้มีบริษัทเข้ามาสร้างงานเยอะขึ้น ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นของหลายฝ่าย ต่างเห็นคล้ายกันว่าอยากให้คนแม่ฮ่องสอนเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ตอนนี้เครื่องมือและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็สะดวกขึ้นกว่าเดิม ระยะต่อไปเราจะทำให้เขาเห็นช่องทางว่าจะนำไอทีไปสร้างรายได้อย่างไร ชาวแม่ฮ่องสอนเก่งศิลปะก็น่าจะเป็นช่องทางนำไปผนวกกับไอที เช่น สร้างโพสต์การ์ดจำหน่ายนักท่องเที่ยว สร้างแผ่นพับนำเสนอสินค้าชนเผ่าหรือสินค้าชุมชนได้” ดร.ศรัณย์ยกตัวอย่าง

ด้าน ดร.กว้าน สีตะธนี ที่ปรึกษาเนคเทค และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสู่โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ว่า ชาวแม่ฮ่องสอนมีความเข้าใจในเรื่องไอทีดีขึ้นมาก จากเมื่อแรกที่เข้าไปนำเสนอความรู้ไอทียังได้รับเสียงคัดค้าน เนื่องจากเข้าใจผิดว่าจะนำอุตสาหกรรมในการผลิตอุปกรณ์ไอทีเข้าไปในพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีเยาวชนที่สามารถนำไอทีมาใช้แสดงและเสริมคุณค่าให้แก่ชนเผ่าของตัวเอง หรือใช้เป็นผลงานสมัครเรียนได้

“สิ่งที่เราเอามาให้พวกเขาคือความรู้และโอกาส เราไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์มาให้เพราะเขาก็มีอยู่บ้างแล้ว ตอนนี้ก็มีพอสมควร เราอยากให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวแม่ฮ่องสอนดีขึ้น อยากให้บริษัทหรือหน่วยงานเล็กๆ ได้ใช้งานไอทีมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กที่จบไอทีได้มีงานจากการจ้างงานของหน่วยงานในพื้นที่ และพยายามสร้างต้นแบบให้ชุมชนได้เห็น” ดร.กว้านระบุ


ภายในศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีของแม่ฮ่องสอน
ภายในศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีของแม่ฮ่องสอน


ศิลปะคือจุดเด่นหนึ่งของชาวแม่ฮ่องสอน









กำลังโหลดความคิดเห็น