xs
xsm
sm
md
lg

“นกนางแอ่น” สัญลักษณ์ฤดูหนาวที่หายไป

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน แต่จากความรู้สึกส่วนตัวของผมที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยและไม่ได้ใกล้เคียงแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าทางตอนเหนือของประเทศในบริเวณที่สูงต่างๆ อุณหภูมิอากาศจะเริ่มเย็นลงบ้างแล้ว แต่สายฝนเองก็ยังคงโปรยปรายสร้างความชุ่มชื้นอยู่ในหลายพื้นที่ ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

สภาพอากาศที่ร้อนชื้น ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ทำให้ผมคิดเอาว่าฤดูร้อนนั้นจับมือกับฤดูฝนอย่างเหนียวแน่นและยังคงไม่ได้จากเราไปไหน เมื่อประกาศจากหน่วยงานของรัฐและสภาพภูมิอากาศที่ควรจะเป็นไม่ได้เดินไปในแนวทางเดียวกันกับความจริงที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เช่นนั้นแล้วจะมีอะไรอื่นอีกที่สามารถบอกเราได้ถึงเวลาและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปรผันไป

เมื่อกลางเดือนก่อน ผมมีโอกาสได้ไปสำรวจความหลาหลายของนกในพื้นที่ของจังหวัดพิจิตร ในการสำรวจครั้งนั้นได้พบเจอนกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น นกกระติ๊ดขี้หมู นกจาบคาหัวเขียว นกตะขาบทุ่ง นกกินปลีอกเหลือง หรือแม้กระทั่งนกที่พบเห็นได้ค่อนข้างยากอย่าง นกกระแตผีเล็ก แต่เนื่องจากพื้นที่ที่เข้าไปสำรวจเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมของมนุษย์อย่างเข้มข้น และพื้นที่โดยรอบถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การที่จะได้พบเจอนกป่าที่สีสันสวยงามกว่าจึงเป็นเพียงความหวัง แต่ถึงกระนั้นก็มีนกกิ้งโครงแกลบหัวเทา นกกระเบื้องผา และนกนางแอ่นบ้าน บินมาให้พบเห็นเป็นการทดแทนและทำให้ผมทราบว่าฤดูหนาวได้มาเยี่ยมเยือนเราอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าสภาพอากาศขณะนั้นจะร้อนอบอ้าวซักเพียงไหน เนื่องจากนกกลุ่มนี้เป็นนกที่อพยพเปลี่ยนที่อยู่อาศัยตามช่วงฤดูกาลโดยสามารถที่จะพบนกเหล่านี้ในประเทศไทยได้ในช่วงฤดูหนาว หมายความว่าพวกมันจะย้ายถิ่นที่อยู่จากทางตอนเหนือที่สภาพอากาศหนาวเย็นอย่างมากในช่วงฤดูหนาวลงมาทางใต้ที่สภาพอากาศนั้นอบอุ่นกว่าและจะอพยพกลับไปดำเนินชีวิตยังที่เดิมเมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไปวนเวียนเป็นวัฏจักรตามฤดูกาล

ในกลุ่มนกอพยพ สำหรับผมชนิดพันธุ์หนึ่งที่มีความโดดเด่นอยู่ในใจก็คือ นกนางแอ่นบ้าน นกตัวน้อยที่บินโฉบเฉี่ยวหากินแมลงไปมาอย่างรวดเร็วบนท้องฟ้า จากการที่มีจำนวนมากมาย สามารถพบได้ทั่วประเทศและสังเกตเห็นได้ง่ายจนชินตา ไม่ว่าจะในพื้นที่ป่า ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรม ชนบท หรือกลางเมืองหลวง แต่คนส่วนใหญ่นั้นยังคงเข้าใจกันผิดคิดว่าเป็นชนิดเดียวกันกับ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นที่เรานำรังของพวกมันมาละลายน้ำผสมกับน้ำตาลแล้วใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพบำรุงร่างกาย ซึ่งจริงๆ แล้วนั้นเป็นคนละชนิดกัน โดยนกแอ่นกินรังเป็นชนิดพันธุ์ของนกประจำถิ่นสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี กินแมลง อาศัยเกาะอาศัยพักอยู่ตามผนังถ้ำ ตัวรังที่สร้างเพื่อการวางไข่ประกอบด้วยเมือกหรือเสลดของนกเพศผู้และเพศเมียที่คายออกมาเท่านั้น ในขณะที่นกนางแอ่นบ้านนั้นส่วนประกอบของรังจะมีขนหรือมูลผสมปนเข้าไปด้วยและสิ่งคุ้นตาเรากันดีคือ การเกาะพักของนกนางแอ่นบ้านจำนวนมาก ที่เกาะพักอยู่ตามสายไฟข้างถนนหนทางและเสาไฟฟ้าส่องสว่างในตัวเมืองยามค่ำคืน ยกตัวอย่างเช่น ถนนสีลม เป็นต้น

นกชนิดนี้เองที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถบอกเราให้รับรู้ได้ถึงการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ระเบียบแบบแผน เมื่อคิดได้เช่นนั้นผมก็แหงนหน้าขึ้น พยายามเพ่งสายตาลอดผ่านช่องว่างระหว่างตึกและอาคารน้อยใหญ่ที่ขวางอยู่ ไปยังผืนฟ้ากว้างเบื้องหลังเพื่อมองหานกตัวน้อยๆ สัญลักษณ์ของเหมันตฤดู ที่ตามปกติจะเห็นบินฉวัดเฉวียนแล่นลมไปมาเป็นฝูงน้อยบ้าง ใหญ่บ้างประดับท้องฟ้าทั้งยามเช้าและยามเย็นอยู่เสมอๆ

แต่ในวันนี้ท่ามกลางท้องฟ้าครึ้มๆ และบรรยากาศที่แสนจะอึมครึมเหนือเมืองหลวง ผมไม่เห็นพวกมันเลยแม้แต่เพียงตัวเดียว

“สิ่งนี้มันกำลังบอกอะไรบางอย่างกับพวกเรา” ผมคิด

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน










กำลังโหลดความคิดเห็น