xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำดี” ไม่มีหมดบริหารน้ำด้วยฝาย-คลองหินขุด 5 ชั่วโคตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลองหินขุด ที่ขุดต่อกันมานับร้อยปีมีระยะทางยาวรวม 9.8 กิโลเมตร
อย่าเข้าใจผิดว่าอยู่ใกล้ “ต้นน้ำ” แล้วจะมีน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์เสมอไป เพราะเมื่อร้อยปีก่อนชาวบ้านรุ่นปู่ในชุมชนเมืองกลาง จ.เชียงใหม่ เกือบต้องฆ่ากันตายเพราะน้ำไม่พอ แต่วันนี้พวกเขากลับมายิ้มได้อีกครั้งแถมมีเงินจากการทำเกษตร เพราะมี “คลองหินขุดและเหมืองฝาย” มรดกที่บรรพบุรุษดำเนินไว้ จนรุ่นลูกแทบไม่รู้จักคำว่า "น้ำไม่มีใช้" อีกต่อไป

“ถึงจะอยู่ใกล้ต้นน้ำแต่ถ้าบริหารจัดการไม่ดีมันก็พัง บรรพบุรุษชุมชนเราจึงสั่งเสียลูกหลานว่าให้ช่วยกันขุดและดูแลคลองหินต่อไปเรื่อยๆ แทนที่การให้มรดกเป็นเงินทอง เพราะพวกเรารู้ดีว่ามีน้ำก็เท่ากับมีกิน” นายประสิทธิ์ พรมยาโน เจ้าหน้าที่ประสานงาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวขณะนำทีมข้าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เดินไปตามทางลาดชันภูเขาเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อเยี่ยมชมฝายแม่หาด

นายประสิทธิ์ เท้าความว่า ชุมชนบ้านเมืองกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนโบราณที่มีการอพยพตั้งถิ่นฐานมามากกว่า 300 ปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำให้ “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชน

ทว่าพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ราบ ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ การเกษตรในช่วงนั้นจึงไม่ได้ผล ชาวบ้านจึงบุกรุกพื้นที่ป่าต้นไม้เพื่อทำไร่ข้าวโพด เก็บของป่าจน “ลำน้ำแม่กลาง” ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเริ่มแห้ง เกิดเป็นความขัดแย้งหนักของคนในชุมชน จนเกิดการกระทบกระทั่งเพราะแย่งน้ำกันบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้

เมื่อชุมชนถึงทางตัน คนในรุ่นปู่ย่าจึงออกแนวคิดร่วมกันในการใช้ภูมิปัญญาจัดการน้ำ เริ่มจากการลงมือทำฝายแม่หาดด้วยหินและอุปกรณ์จากธรรมชาติขวางน้ำตกแม่กลาง เพื่อผันน้ำมาใช้ ควบคู่กับการขุดเหมือง (เหมือง ภาษาชาวบ้านแปลว่า คลอง) เลาะเชิงดอยเพื่อให้มีน้ำไหลเข้ามาในพื้นที่ชุมชน หลังจากนั้นจึงจัดสรรปันส่วนน้ำกันด้วย “ระบบแต” ที่มีลักษณะคล้ายคลองซอย และ “ระบบต๋าง” ที่เป็นเหมือนคลองไส้ไก่ เพื่อผันน้ำเข้าสู่บ่อเก็บกักและพื้นที่เกษตร

“ถามชาวบ้านเขาว่าตอนแรกขุดไปเท่าไหร่ เขาก็ตอบกันไม่ได้เพราะว่ายังไม่เกิด แต่คนรุ่นเก่าจะบอกให้ลูกหลานขุดไปเรื่อยๆ จนรวมๆ มีระยะทางถึง 9.8 กิโลเมตร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าขุดเล็กๆ ที่ขุดต่อเนื่องกันมาประมาณ 5 ช่วงอายุคนตั้งแต่ตอนนั้น จะทำให้ตอนนี้ชาวบ้านสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่เกษตรได้มากถึง 25 ลำเหมือง รวมเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ แต่ถึงตอนนี้จะไม่ได้ขุดเพิ่มแล้ว ชาวบ้านก็ยังมีการอนุรักษ์ มีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่หาด ผลัดเปลี่ยนกันมาซ่อมแซมฝายอยู่เสมอ และมีการตั้งกฎการใช้น้ำร่วมกันโดยแบ่งออกเป็นรอบเวรจ่ายน้ำ” นายประสิทธิ์ กล่าว

ด้วยความสำเร็จที่เห็นได้ชัดจากชุมชนบ้านเมืองกลางในพื้นที่ 3,500 ไร่ 400 ครัวเรือนปี 2553 ชุมชนฯ จึงเข้าร่วมการประกวดการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริและได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครองเพราะนอกจากจะมีการจัดระบบการจัดการน้ำที่ดีแล้ว ยังมีการขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงนอีก 11 หมู่บ้านใน 2 ตำบลอีกกว่า 2,000 ครัวเรือนให้มีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ ยังเผยอีกว่าตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ชาวบ้านได้เริ่มดำเนินงานจัดการน้ำให้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสนก.มาใช้ ทั้งการใช้โทรมาตร จัดทำแผนที่ การจัดทำผังน้ำ โดยใช้จีพีเอสและภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อจัดทำข้อมูลและวิเคราะห์พื้นที่เพื่อฟื้นฟูแหล่งกักเก็บน้ำเดิม และหาลู่ทางเพิ่มเติมแหล่งเก็บน้ำใหม่ อีกทั้งยังพัฒนาวิธีการผันน้ำเพื่อให้น้ำใช้มีความใสสะอาดยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างฝายน้ำลอดน้ำล้นจากท่อที่กำหนดพิกัดแนวสูงต่ำด้วยจีพีเอส เพื่อระบายน้ำหลากที่มักมาพร้อมกับเศษดินตะกอนขุ่นข้นให้ไหลลงไปยังแหล่งน้ำอีกทาง เพื่อนำน้ำดีลงมาใช้ในพื้นที่ชุมชน

สำหรับการสร้างฝายน้ำลอดน้ำล้นนั้น นายประสิทธิ์ เผยว่าเป็นแนวคิดของชาวบ้าน แต่เป็นการออกแบบโดยนักวิจัยของ สสนก. ที่ออกแบบให้ฝายมีลักษณะเป็นเหมือนสะพานที่น้ำไหลได้สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งใช้เป็นทางระบายน้ำหลากจากต้นน้ำอินทนนท์ที่มักมีสีแดงขุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งรับน้ำสะอาดจากน้ำตกแม่กลางไปยังคลองหินขุด ที่วางตัวยาวเกือบ 10 กิโลเมตรไปถึงพื้นเกษตรของชาวบ้าน เช่นในพื้นที่ของนายนิติ เที่ยงจันตา ประธานเยาวชนชุมชนแม่หาด ที่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการทำเกษตรสวนผสมตามแนวพระราชดำริฯ

นายนิติ เผยว่า แปลงเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสัตว์กว่า 5 ไร่ของเขาใช้น้ำเกือบทั้งหมดจากต๋างที่ผันมาจากเหมืองแม่หาด โดยในภายในแปลงจะปลูกพืชพันธุ์หลายอย่างทั้งผักพื้นเมือง ผักกาด ผักชี ชะอม มะนาวที่สามารถนำเก็บไปขายที่ตลาดได้ทุกสัปดาห์ รวมถึงลำไยพันธุ์พื้นเมืองโดยจะให้น้ำผ่านระบบท่อทำให้ไม่ต้องเปลืองน้ำโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการทำปศุสัตว์เลี้ยงไก่พันธุ์ประดู่หางดำเชียงใหม่ กว่า 2,000 ตัว, หมูขาวดำ, กบ, กุ้งฝอย และปลา สร้างรายได้หมุนเวียนจนปัจจุบันนี้นิติมีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสานราวๆ 50,000 บาทต่อเดือน

“เพราะมีน้ำเราจึงทำเกษตรได้ แต่ถ้าทำเกษตรแบบเดิมก็ไม่พอกินอีก เราจึงน้อมนำเอาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงมาใช้ แล้วก็ขยายผล เอาไปประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนทำด้วย ชาวบ้านในละแวกนี้จึงปลูกหลายๆ อย่างในพื้นที่เดียว เพราะถึงไม่ได้มีมากพอสำหรับขาย แต่เราก็มีกิน ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้ประมาณปีละ 3,000 บาท และยังทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเฉลี่ยแล้วตกที่แปลงละ 72,000 บาทต่อปี อย่างผมมีเนื้อที่มากหน่อย ปลูกมากหน่อยจึงได้เยอะตามจำนวน” เจ้าของแปลงเกษตรผสมผสานเผยเแก่ทีมข่าวผู้จัดการยวิทยาศาสตร์

ท้ายสุด นายประสิทธิ์ เผยว่า ในอนาคตจะขยายผลการจัดการน้ำไปอีก 2 หมู่บ้าน ใน ต.หกเบา และจะทำขุดสระแก้มลิงเพิ่มเติม พร้อมทำฝายน้ำลอดน้ำล้นเพื่อขยายผลให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมีโอกาสได้ใช้น้ำมากขึ้น
ทางเดินขึ้นไปยังเหมืองฝาย มีความลาดชัน ต้องเดินเท้าเข้าไป
ฝายแม่หาด ถูกสร้างขึ้นโดยชาวบ้านเพื่อผันน้ำจากน้ำตกแม่กลางเข้าสู่คลองหินขุด
ฝายแม่หาดทำขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติและหิน จึงมักมีการชำรุดแต่ผู้ใช้น้ำจะมีการเปลี่ยนเวรยามมาซ่อมแซมตลอด
คลองหินขุด คือทางน้ำไหลที่ผันจากน้ำตกแม่กลางข้าสู่หมู่บ้าน
กระแสน้ำจากต้นน้ำเขาอินทนนท์แรงและใสตลอดปี
ฝายน้ำลอดน้ำล้น ถูกออกแบบโดยนักวิชาการ สสนก. สร้างขึ้นเมื่อปี 2556
ฝายน้ำลอดน้ำล้น ถูกออกแบบให้มี 2 ช่วง สำหรับระบายน้ำหลาก และเป็นทางเดินน้ำใส
ายประสิทธิ์ พรมยาโน เจ้าหน้าที่ประสานงาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
ไก่พันธุ์ประดู่หางดำเชียงใหม่ถูกเลี้ยงแบบเปิดในไร่ของนายนิติ
หมู เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกเลี้ยงไว้ในแปลงสวนผสม
ผัก ผลไม้ที่ได้ นายนิติและแม่จะนำมาขายที่ตลาดชุมชน ส่วนลำไยหรือผักบางประเภทจะมีพ่อค้ามารับซื้อที่สวน
นายนิติ เที่ยงจันตา ประธานเยาวชนชุมชนแม่หาด เจ้าของแปลงเกษตรแบบผสมผสาน









กำลังโหลดความคิดเห็น