เรารู้จักและคุ้นเคยกับการบริโภค “ถั่ว” เป็นอย่างดี แต่เรากลับไม่เคยรู้เลยว่าความจริงแล้ว “ถั่ว” สามารถแบ่งชนิดได้ และมีหลายประเภทด้วย
ในโอกาสที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ตั้งให้ปี 2559 เป็นปีสากลแห่งถั่ว ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขอพาทุกคนไปรู้จักและทำความเข้าใจเรื่องราวของ “ถั่ว” ให้มากขึ้นจากนิทรรศการ “2016 International year of Pulse” ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำมาจัดแสดงให้ความรู้กับเยาวชน ภายในงานถนนสายวิทย์รับวันเด็ก ประจำปี 2559 ที่เพิ่งผ่านไป
น.ส.สุนิศรา เอี่ยมคง นักวิชาการ กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช.กล่าวว่า ถั่ว เป็นอาหารของมนุษย์มานานกว่า 12,000 ปี สำหรับไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเพาะปลูกถั่วมาตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าถั่วที่เข้ามายังปรเทศไทยครั้งแรก คือ ถั่วเหลืองที่ชาวจีนอพยพนำติดตัวเข้ามา และคาดว่าคนไทยนิยมรับประทานถั่วมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนจากหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าผู้ปกครองเชียงใหม่และลำพูนได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองหลังจากทำนา
นักวิชาการ อพวช. กล่าวว่า ถั่ว แบ่งตามลักษณะฝักได้ 3 กลุ่ม คือ บีน (bean), พี (pea) และเลนทิน (lentil) ถั่วบีนเป็นกลุ่มของถั่วฝัก ที่ลักษณะของเมล็ดถั่วไม่กลม เช่น ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า ถั่วแขก ถั่วพู, ส่วนถั่วพี เป็นถั่วกินฝักสด เมล็ดมีลักษณะกลม เช่น ถั่วลันเตา ส่วนถั่วเลนทิน จะมีลักษณะเมล็ดค่อนข้างแบน
นอกจากนี้เมล็ดของถั่วทั้ง 3 กลุ่มยังสามารถแบ่งออกตามลักษณะคุณค่าอาหารได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ถั่วน้ำมัน (Oilseed legume) คือ ถั่วที่มีโปรตีนและไขมันสูง ซึ่งจะสะสมพลังงานในรูปไขมัน ถั่วชนิดนี้ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ที่นิยมนำไปสกัดเป็นน้ำมันพืช ส่วนถั่วอีกชนิดหนึ่งคือ ถั่วพัลส์ (Pulse)
นักวิชาการ ระบุว่า ถั่วที่จะถูกจัดให้อยู่ในชนิดถั่วพัลส์ได้ จะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ ต้องเป็นถั่วที่มีโปรตีนสูง, ต้องเป็นถั่วที่มีไขมันต่ำไม่เกิน 4% และต้องเป็นถั่วที่เก็บเกี่ยวในรูปเมล็ดแห้งเท่านั้น โดยถั่วที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มถั่วพัลส์มีดังนี้ ถั่วขาว,ถั่วพินโต้, ถั่วตาดำ, ถั่วเขียวซีก, ถั่วเขียว, ถั่วเลนทิลเขียว, ถั่วลูกไก่, ถั่วเลนทินแดง, ถั่วแดง และ ถั่วแดงหลวง ส่วนถั่วที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง ถั่วปากอ้า ถั่วพิสติโอ ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ไม่ถือเป็นถั่วพัลส์ นอกจากนี้ สุนิศรา ยังกล่าวด้วยว่า
นอกจากนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงจะทำให้เยาวชนได้รู้จักและแยกชนิดของถั่วได้แล้ว ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นความสำคัญอาหารด้วย เพราะในประเทศที่ขาดแคลน เช่น บางประเทศในแอฟริกาต้องบริโภคโปรตีนถั่วพัลส์เป็นอาหารแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงถึงประโยชน์ของถั่วที่มีต่อคุณภาพดิน เพราะถั่วเป็นพืชที่มีการแตกรากแขนงมาก และในส่วนของปมรากยังมีไรโซเบียมซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ตรึงธาตุไนโตรเจนได้ดี ทำให้เกษตรกรนิยมปลูกพืชหลักสลับกับการปลูกและไถกลบต้นถั่ว