ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ มอบความสุขคนไทย เปิดห้องฉายดาวโฉมใหม่พร้อมระบบฉายดาวดิจิทัล "Digistar 5" ความคมชัดสูงจากสหรัฐฯ สุดทันสมัย จัดเต็มระบบแสง สี เสียงสุดอลังการ หลังทุ่มงบ 95 ล้านปรับปรุงระบบใหม่หมด พร้อมเปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ถึง 9 ม.ค. 59
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ จัดงาน "2559 ก้าวใหม่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ" พร้อมเปิดตัวเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลและห้องฉายดาวโฉมใหม่ หลังปิดปรับปรุงยกระบบให้ทันสมัยเป็นเวลานาน 6 เดือน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 59 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ โดยมี รศ.ดร.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
นางตติยา ใจบุญ รักษาการผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ กล่าวว่า ในโอกาสปีใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้จัดโครงการ ของขวัญปีใหม่จากใจ กศน. ในหัวข้อ "สนุกวิทย์ Kids Learn เพลินดวงดาว" ขึ้นซึ่งประกอบกับวาระพิเศษที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพได้ปรับโฉมห้องฉายดาวและติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอีกครั้งหลังจากปิดปรับปรุงเพื่อยกระดับให้ทันสมัยเป็นเวลากว่า 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 58 ที่ผ่านมา
สำหรับการซ่อมแซมปรับปรุงดังกล่าว นางตติยา เผยว่า ได้จัดสรรงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรับย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องฉายดาวพร้อมอุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับห้องฉายดาวเป็นจำนวนเงิน 95 ล้านบาทแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนเครื่องฉายดาว 70%
ในส่วนของเทคโนโลยีเครื่องฉายดาวใหม่ที่นำมาติดตั้ง นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและรับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่นำมาติดตั้งภายในท้องฟ้าจำลองใหม่นี้มีชื่อว่า "ดิจิสตาร์ไฟว์" เป็นเครื่องฉายความละเอียดสูงสุด 4 K จากสหรัฐฯ ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในปัจจุบันเพราะมีการใช้โปรเจกเตอร์ที่ชื่อว่า "คริสตี้" จำนวน 2 ตัวซึ่งภายในบรรจุคอมพิวเตอร์อีก 4 ตัวฉายภาพในมุมที่ต่างกัน ทำให้ภาพที่ได้มีความละเอียด คมชัดจากการซ้อนทับที่ซับซ้อน จนทำให้สามารถฉายดาวทั้งในอดีตและปัจจุบันได้นับแสนดวง ต่างจากเครื่องฉายดาวระบบอนาล็อกที่ฉายได้เพียง 9,000 ดวง
นอกจากนี้ ฐกร ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า สมองกลที่ชื่อว่า "ดิจิสตาร์ไฟว์" ยังมีความสามารถพิเศษที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ได้ด้วย ทำให้ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพสามารถดึงข้อมูลจากท้องฟ้าจำลองทั่วโลกที่ใช้ระบบฉายเดียวแบบเดียวกันมาใช้สำหรับสอนเด็กนักเรียน หรือประชาชนทั่วไปได้ และที่สำคัญระบบฉายดาวแบบดิจิทัลยังสามารถฉายภาพยนต์ระบบเต็มโดมครึ่งวงกลมแบบสมจริงเสมือนการชมภาพยนตร์ 3 มิติได้อีกด้วย ซึ่งในเบื้องต้นท้องฟ้าจำลองได้คัดเลือกภาพยนต์วิทยาศาสตร์สาระจากพื้นฐานความรู้จริง 3 เรื่องอันได้แก่ Experience of Aurora, New Horizon และ Violence Universe มาฉายให้ประชาชนได้ชม
"นอกจากสมรรถนะของคริสตี้และดิจิสตาร์ไฟว์ที่เรียกได้ว่าไฮเทคที่สุดในขณะนี้แล้ว เรายังได้ออกแบบเลนส์พิเศษเพื่อให้การฉายภาพผ่านเครื่องฉายเง่ตัวเก่าไม่เกิดเงาตกกระทบไปที่ผนังโดมด้วย เพราะเราไม่ได้นำเครื่องฉายดาวตัวเก่าออกแต่ยังตั้งไว้กลางห้องที่เดิมเพื่อใช้เสริมกันและที่มากไปกว่านั้นคือท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ยังได้ถูกยกให้เป็นท้องฟ้าจำลองที่เป็นเอกลักษณ์เนื่องจากมีการฉายภาพสี ในขณะที่ท้องฟ้าจำลองที่อื่นจะใช้โทนขาวดำ" นายฐกร กล่าวเพิ่มเติมแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้าน นายปรินทร์ ทานะวงศ์ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ผู้ควบคุมระบบฉายดาว กล่าวว่า ระบบฉายดาวแบบดิจิทัลนอกจากจะทำให้ผู้ชมได้เห็นดวงดาวแบบท้องฟ้าตามตำแหน่งจริงด้วยความคมชัดและสวยงามถูกต้องแล้ว ยังทำให้การทำงานของเขาง่ายขึ้นด้วย เพราะระบบฉายดาวแบบเดิมที่เป็นแบบอนาล็อกที่ต้องใช้เวลาในการประมวลผลพอสมควร ทำให้ในการเปิดตำแหน่งดาวเพื่อฉายในแต่ละครั้ง เขาจำเป็นต้องพูดประวิงเวลาเพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศในการรับชม ในขณะที่ระบบใหม่จะทำงานได้อย่างรวดเร็วทันใจ แม้ว่าก่อนการเริ่มฉายจะต้องเปิดเครื่องเพื่อลำดับข้อมูลเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาทีเพราะภาพมีความคมชัดสูง
"นอกจากตัวเครื่องฉายดาวแล้ว ทั้งห้องฉาย เก้าอี้ ผนัง รวมถึงนิทรรศการรอบข้างเราก็เปลี่ยนใหม่หมด ถือเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่หลังจากที่เปิดมา 51 ปี แล้วเราไม่เคยเปลี่ยนอีกเลย โดยเรายังใช้การบรรยายเหมือนเดิม ส่วนที่เพิ่มเติมคือสามารถซูมไปยังดาวเคราะห์ต่างๆ เพื่อดูพื้นผิวหรือบริวารได้เลย แล้วสิ่งที่เด็กๆ น่าจะชอบเป็นพิเศษคือภาพยนตร์ที่นำมาฉาย ที่จะทำให้พวกเขาได้ทั้งความบันเทิงและสาระความรู้คล้ายกับการชมภาพยนตร์แบบสามมิติเพราะภาพที่เห็นจะเป็นแบบเต็มโดม ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน และของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยด้วย เพราะตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 ม.ค. 59 จะเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และวันเด็กที่จะถึงนี้จะเปิดให้เข้าชมถึง 9 รอบด้วยกันจากปกติที่เปิด 4 รอบต่อวัน" นายปรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน น้องแท๊ค หรือ ด.ช.อรรถพร ยังมี นักเรียนชั้น ป.3 ร.ร.ดาราคาม กล่าวว่า การมาชมท้องฟ้าจำลองในครั้งนี้รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นกว่า ครั้งแรกที่เคยมาชมกับผู้ปกครอง เพราะดาวที่เห็นมีความคมชัดและมีสีสันสวยงามกว่าที่เคยดู และที่ตื่นเต้นที่สุดคือการได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ในระยะใกล้ชิดจนเหมือนดาวจะตกใส่ศรีษะ ทำให้ในวันเด็กนี้จะขอให้ผู้ปกครองพามาชมท้องฟ้าจำลองพร้อมกับน้องอีกรอบหนึ่ง
โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าชมการฉายดาวจากเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล และชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่อง Experience of Aurora ด้วย ซึ่งทีมข่าวฯ มีความเห็นตรงกันว่าเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล สามารถฉายดาวได้คมชัดและน่าสนใจว่าการฉายดาวแบบเดิมที่เคยชมมา และความสามารถในการซูมดาว พร้อมด้วยระบบแสง สี เสียงใหม่ยังทำให้การฉายดาวที่ไม่ต่างไปจากเดิมมีความน่าสนใจขึ้นอีกมาก เพราะภาพที่เห็นเป็นภาพมีมิติเทียบเท่ากับการชมภาพยนตร์ 3 มิติโดยไม่ต้องสวมแว่นตา และในส่วนของภาพยนตร์ที่นำมาให้ชมก็เป็นภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากองค์การดาราศาสตร์สากลเป็นที่เรียบร้อย
**สำหรับผู้สนใจเข้าชม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เอกมัย โทร 02-392-1773 และ 02-3920508 **