xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัยยาจาก "รา" รับทุนศาสตราจารย์แกนนำ 20 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นักวิจัย มอ.รับทุนศาสตราจารย์ที่เป็นแกนนำกลุ่มรับทุนวิจัย 20 ล้าน เดินหน้าพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง, ไขมัน, ความดัน, ท้องร่วงจากเชื้อรา หลังพบปัญหาเชื้อเริ่มดื้อจนยาปัจจุบันยั้งไม่อยู่ แถมราคาแพงต้องสั่งจากนอก

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผลผู้ได้รับทุนศาสตราจารย์ที่เป็นแกนนำกลุ่ม ( NSTDA Chair Professor) ประจำปี 2558 ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558

ในปีนี้นักวิจัยที่ได้รับทุนศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม ได้แก่ ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การค้นหาและพัฒนาสารต้นแบบจากทรัพยากรราของไทยเพื่อความยั่งยืนในการค้นหายา” โดยจะได้รับเงินวิจัยจำนวน 20 ล้านบาท จากการสนับสนุนของมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในระยะเวลาทุน 5 ปี

ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล หัวหน้าโครงการการค้นหาและพัฒนาสารต้นแบบจากทรัพยากรราของไทยเพื่อความยั่งยืนในการค้นหายา ผู้ได้รับทุนศาสตราจารย์ที่เป็นแกนนำกลุ่มประจำปี 2558 กล่าวว่า งานวิจัยของเธอเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเดิม เพื่อพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้นแบบให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะโรคที่มักดื้อยาอย่างมะเร็ง, ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูงและโรคท้องร่วง โดยการแยก คัดเลือก และจำแนกเชื้อราที่มีโครงสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาเป็นยาชนิดใหม่

ผศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องแยกเชื้อราเป็นเพราะการศึกษาพบว่า ในรามีสารบางอย่างที่สามารถยับยั้งโรคมะเร็งเต้านมได้ โดยไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียง อีกทั้งราที่แยกได้จากดินบางตัวยังให้สาร "โลวาสตาติน" ซึ่งเป็นโครงสร้างเดียวกับยาลดไขมันในเลือดที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้เมทาบอไลท์หรือสารสกัดจากราทะเลที่ได้จากหญ้าทะเลหรือสาหร่ายทะเล ยังมีโปรตีนบางชนิดที่เข้าไปยับยั้งกลไกการเกิดท้องร่วงด้วย

"บางครั้งราชนิดเดียวกันแต่สกัดได้สารหรืออนุพันธ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งบางตัวเรานำมาใช้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นยาได้ งานวิจัยนี้จึงเหมือนการค้นพบเพนนิซิลิน แต่เป็นการหายาตัวใหม่ๆ ให้กับโรคไม่ติดต่อที่มักมีการดื้อยา มีผลข้างเคียงต่อตับและมีราคาแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าทำได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ของคนไทย โดยเราคาดหวังว่าภายใน 1 ปี เราจะได้กระบวนการและข้อมูลอนุพันธ์โลวาสตาติน และเมทาบอไลท์รักษาท้องร่วง และยังจะต่อยอดการนำเชื้อราที่แยกแล้วไปทดสอบกับโรคพืชที่เกิดในข้าวและยางพาราด้วย" ศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า ทุน NSTDA Chair Professor ประจำปี 2558 ถือเป็นทุนที่ 4 ที่มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สนับสนุน ตามที่ สวทช. ได้ประกาศรับสมัครข้อเสนอโครงการวิจัย ที่มีขอบเขตด้านสุขภาพและการแพทย์ ควบคู่กับการพิจารณาคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ, ความสามารถทางวิชาการ, ความเป็นผู้นำทีม, การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม, การผลิตผลงานที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในภาคการผลิต บริการและสังคม รวมถึงความเป็นเลิศของคุณภาพทางวิชาการและความคิดริเริ่มระดับนานาชาติ

"ศ.ดร.วัชรินทร์ เป็นนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น มีผลงานซึ่งได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงจำนวนมากทางด้านเคมีอินทรีย์ เป็นผู้อุทิศตนให้กับงานวิจัยและสร้างผลงานด้านสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากเชื้อจุลินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และยังมีทีมนักวิจัยที่ล้วนมีความสามารถและประสบการณ์ในหัวข้อวิจัยที่เสนอขอรับทุนเป็นอย่างดีในปีนี้ ศ.ดร.วัชรินทร์ จึงเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้รับทุนในการดำเนินโครงการอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป" ผอ.สวทช.กล่าวทิ้งท้าย
เชื้อราจากดินบางชนิดมีฤทธิ์ทางชีวเคมีที่พัฒนาเป็นยารักษาโรคไขมันในเลือดสูงได้
นักวิจัย, ตัวแทนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสวทช. ลงนามการรับมอบทุน
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา  ประธานมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มอบทุนวิจัย
ทีมวิจัยและผู้มองทุนถ่ายภภาพร่วมกัน
ทีมวิจัยและผู้มองทุนถ่ายภภาพร่วมกัน









กำลังโหลดความคิดเห็น