xs
xsm
sm
md
lg

สอน “ปกาเกอะญอ” กรองน้ำด้วยก้อนกรวด ถ่านและเซรามิกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี ระหว่างสาธิตการใช้ชุดกรองน้ำแก่ชาวปกาเกอะญอและเจ้าหน้าที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ
สำหรับคนเมืองการเดินเข้าร้านสะดวกหยิบขวดน้ำดื่มไม่ใช่เรื่องยาก แต่ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าตามดอยมีเพียงลำธารเป็นแหล่งน้ำดื่ม ทว่าการดื่มน้ำจากลำธารโดยตรงอย่างที่ทำตามกันมาจากบรรพบุรุษนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกสุขอนามัย และยังก่อให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเดินทางไปพร้อมคณะนักวิจัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มุ่งสู่ศูนย์ประสานงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.10 (ห้วยสะเลียง) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

การเดินทางดังกล่าวเพื่อนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยทีมวิจัย มจธ.ไปถ่ายทอดให้แก่ชาวปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชนบท ระหว่างสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ มจธ.

หนึ่งในเทคโนโลยีอย่างง่ายที่นำไปถ่ายทอดคือชุดกรองน้ำดื่มจากวัสดุธรรมชาติเพื่อชุมชนชนบท ซึ่ง ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เล่าถึงปัญหาว่า ชาวปกาเกอะญอซึ่งอาศัยอยู่บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีมักดื่มน้ำจากลำธารโดยตรง โดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อก่อน

จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำตามลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ทีมวิจัยพบว่า ในน้ำ 100 มิลลิลิตรมีจุลินทรีย์ที่อาจก่อโรคทางเดินอาหาร เช่น อี.โคไล สูงกว่า 2,000 โคโลนี (หรือจำนวนจุลินทรีย์) แม้ยังไม่พบชาวบ้านประสบปัญหาจากการอุปโภคและบริโภคโดยตรง แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาชุดกรองน้ำเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องร่วงหรือโรคทางเดินอาหาร

ชุดกรองน้ำดังกล่าว ผศ.ดร.ธิดารัตน์ระบุว่า เลือกใช้วัสดุที่สามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น โดยแบ่งขั้นตอนการกรองเป็น 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนกรองหยาบ ซึ่งมีตัวกรอง 3 ชั้นได้แก่ กรวดสำหรับกรองเศษขนาดใหญ่ ทรายสำหรับกรองเศษขนาดเล็ก และถ่านสำหรับกรองสารเคมีต่างๆ และขั้นตอนกรองละเอียด ซึ่งกรองน้ำที่ผ่านการกรองหบายด้วยกระถางเซรามิกส์ที่ช่วยกรองเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ขนาดเล็กได้ดี

“ผลจากการทดสอบพบว่าน้ำที่ผ่านกระถางเซรามิกส์พบจุลินทรีย์ก่อโรคเพียง 3 โคโลนีต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ซึ่งน้อยมากและไม่ก่อให้เกิดอันตราย สำหรับอัตราการกรองแบบหยาบเพื่อให้ได้น้ำสำหรับอุปโภค ซักล้างทำความสะอาดทั่วไปอยู่ที่ชั่วโมงละ 60 ลิตร และอัตราการกรองละเอียดสำหรับใช้บริโภคอยู่ที่ชั่วโมงละ 1 ลิตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการดื่มน้ำในแต่ละวัน และไม่จำเป็นต้องต้มให้เปลืองเชื้อเพลิงซึ่งหาได้ยาก” ผศ.ดร.ธิดารัตน์

ส่วนจุดเริ่มของการผลิตชุดกรองน้ำดังกล่าว เริ่มจากปัญหาที่ทีมนักวิจัย มจธ.ได้เดินทางเข้าพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ในกิจกรรมพัฒนาชุมชน แล้วพบความยากลำบากในการลำเลียงน้ำดื่มบรรจุขวดผ่านเส้นทางขดเคี้ยวและลาดชัน จึงต้องการอุปกรณ์สำหรับผลิตน้ำที่ปลอดภัยสำหรับดื่มโดยไม่ต้องต้ม และนำไปสู่การถ่ายทอดวิธีการกรองน้ำให้แก่ชุมชนในพื้นที่

ด้าน นายลอย จีบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึกและชาวปกาเกอะญอ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กินน้ำในลำธารแม่น้ำเพชรบุรีมาตั้งแต่เกิด ปู่ยาตายายก็ดื่มน้ำจากลำธารโดยไม่ต้องต้มหรือกรอง และยังไม่เคยเห็นใครเป็นโรคหรือท้องเสีย และก็ไม่รู้ว่าดื่มน้ำในลำธารแล้วจะท้องเสียได้ แต่ปกติหากมีใครท้องเสียก็นำสมุนไพรมาต้มกิน แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่ก็ไปพบแพทย์

สำหรับนวัตกรรมการกรองน้ำที่ทีมวิจัย มจธ.นำมาสาธิตให้ชาวปกาเกอะยอในพื้นที่ชมนั้น นายลอยกล่าวว่าคงต้องนำไปใช้เป็นตัวอย่าง 2-3 หลังเรือน หากได้ผลดีก็จะขยายผลแก่ลูกบ้านคนอื่นๆ ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับชาวบ้าน คือห่างไกลแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก และลำธารอยู่ต่ำกว่าที่อยู่อาศัย หากบ้านใดพอมีกำลังทรัพย์ก็จะซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ แต่เป็นเรื่องลำบากสำหรับบ้านที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะตัวเขาเองที่อยู่ห่างจากแหล่งมากกว่าคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี และลูกศิษย์พร้อมชุดกรองน้ำประกอบเสร็จ โดยอนาคตจะปรับใช้กระบอกไม้ไผ่สำหรับใส่ตัวกรองแทนขวดพลาสติก
หิน กรวด ทรายและถ่าน (วนจากซ้ายบนตามเข็มนาฬิกา) สำหรับกรองน้ำแบบหยาบ
เซรามิกส์สำหรับกรองแบบละเอียดเพื่อใช้ดื่ม
กล่องพลาสติกบรรจุกระถางเซรามิกส์เพื่อใช้รับน้ำที่ผ่านการกรองหยาบ
ต้นแม่น้ำเพชรบุรี แหล่งน้ำดื่ม-น้ำอุปโภคของชาวปกาเกอะญอ
นายลอย จีบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก









กำลังโหลดความคิดเห็น