รองนายกฯ ตรวจเยี่ยมผลงาน สกว. แนะควรเตรียมความพร้อมเป็นที่ปรึกษาการสร้างคนและผลงานวิจัย ด้วยการปรับหลักบริหารจัดการ และรูปแบบงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนคู่การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ พร้อมการสร้างตลาดประชารัฐ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมภารกิจสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับและนำเสนอยุทธศาสตร์ การพัฒนานักวิจัย ผลงานวิจัย สกว.ที่ตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของรัฐบาล และผลงานวิจัยด้านสังคมและความมั่นคง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.58 ณ ห้องประชุม สกว.
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การรับฟังผลงานของ สกว.ในครั้งนี้เป็นการรับทราบข้อมูลและแนวทางการทำวิจัย เพื่อนำไปสู่การวางแผนงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับปรุงพัฒนางานในสาขาที่เกี่ยวข้องให้เดินหน้าต่อไปได้ ด้วยภารกิจในการรับผิดชอบงานด้านวิจัยของประเทศได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา “คน” และ “ผลงานวิจัย” ให้ต่อยอดและเกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ทว่าการวิจัยบางเรื่องนั้นต้องใช้เวลา เพราะอาจไม่ได้เห็นผลในทันที ดังนั้นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะให้การดูแล ให้คำปรึกษาและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่นักวิจัย รวมถึงการนำผลสัมฤทธิ์ไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการรองรับโจทย์ที่ท้าทายและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างครบวงจร อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ลดขั้นตอนกระบวนการวิจัยเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจดสิทธิบัตร สิทธิประโยชน์ และผลตอบแทน ให้เอื้อประโยชน์ต่อนักวิจัยและผู้ลงทุน
“การให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ด้านชุมชนพื้นที่นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ พาณิชย์ และความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล จึงอยากให้เร่งกระบวนการให้เกิดผลงอกงามมากขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีการเติบโต รวมทั้งฝากงานวิจัยด้านสมุนไพรในการพัฒนารูปแบบและมาตรฐาน เพื่อการสร้างความเชื่อมั่น มีการรับรอง อย. ต่อยอดไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ในทุกระดับและการท่องเที่ยวชุมชน เช่น ท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย ตลอดจนสร้างตลาดประชารัฐ ส่วนการสนับสนุนอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีบรรจุภัณฑ์สวยงามและผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง จึงต้องพัฒนาทั้งเรื่องเทคโนโลยี การตลาด ความเชื่อมั่น การสร้างตราสินค้า การจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อต่อการผลิตสินค้า ส่วนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต้องจับมือกับหน่วยงานทหารและตำรวจเพื่อวางแผนการจัดซื้อและการทำวิจัยให้สอดคล้องกัน”
ส่วนทางด้าน ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการงานวิจัยขณะนี้ยังติดขัดเรื่องการสนับสนุนที่มีพลังมากพอ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ สกว.เน้นโครงการพื้นฐานสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ที่จะก้าวกระโดดและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ระดับนานาชาติ ซึ่ง สกว.ยินดีที่จะสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลโดยเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับชุมชนไปสู่ระดับประเทศและระดับโลก
ขณะที่ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่า สกว.สนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ การวิจัยและพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตรงประเด็นปัญหาและก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ผ่านการพัฒนารูปแบบและกลไกการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งวิชาการ นโยบาย พาณิชย์ สาธารณะ ชุมชนและพื้นที่ อีกทั้งเชื่อมโยงระบบการจัดการปลายทางโดยสังเคราะห์ความรู้ไปใช้ประโยชน์และประมวลข้อมูลเพื่อสื่อสารสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อเกิดผลลัพธ์และผลกระทบจากงานวิจัยแล้ว สกว.จะส่งมอบต้นแบบให้หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยไปดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจฐานรากของ สกว. ได้มีการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างตัวเลือกและทางเลือกให้เกษตรกรของประเทศ สินค้าตัวเลือกสำคัญจากพืชและสัตว์พื้นเมือง เช่น ไก่พื้นเมือง มะละกอปลอดจีเอ็มโอ ไหมอีรี่ โคพื้นเมือง โดยเน้นระบบผลิตที่ปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค การรวมกลุ่ม การบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานทั้งระดับวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์
ขณะที่ตัวอย่างงานวิจัยที่ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เช่น การผลักดันนวัตกรรมยางปูคอกสัตว์ให้เกิดการจัดซื้อจากภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ที่ได้รับมติ ครม. นวัตกรรมการปูพื้นสระเคลือบยางธรรมชาติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐโดยเฉพาะการข้อสั่งการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการต่อ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ผ่าน อบต.และ อบจ.
การพัฒนาเครื่องบินทะเลให้มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการปฏิบัติงานในกองทัพเรือและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง} อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ รถแท็กซี่อัจฉริยะจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายด้วยระบบธุรกิจอัจฉริยะ ระบบไฟถนนอัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งมีเอกชนเข้าร่วมโครงการและรอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายหลังการวิจัยแล้วเสร็จ
ด้านงานวิจัยด้านสังคม สกว.มีงานวิจัยเรื่องการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย โดยจะสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการโดยชุมชนในรูปแบบกลุ่มหรือองค์กรชาวบ้าน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน สร้างกติการ่วมด้านผลประโยชน์และรายได้แก่สมาชิกในชุมชน เตรียมให้ชาวบ้านเป็นมัคคุเทศก์ที่เล่าเรื่องราวการทำนาและวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับการทำนาได้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนและส่งเสริม และพัมนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว ซึ่งคาดว่าจะมีรายรับเฉลี่ยต่อครัวเรือน 6,000-10,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่าย ระยะเวลาและจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลอาจสนับสนุนงบประมาณ 5 แสนบาทในพื้นที่ 20 แห่งที่มีความพร้อมและเป็นไปได้ในปัจจุบัน รวมประมาณทั้งสิ้น 10 ล้านบาท