xs
xsm
sm
md
lg

บสย.ทุบสถิติ! ยอดค้ำประกันสินเชื่อSMEs กระฉูดทะลุแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ (ที่ 2 จากซ้าย)  ประธานกรรมการ  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บสย.เผยผลงานปี 58 ทะลุเป้า คาดยอดค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี รวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 7 หมื่นราย ระบุทุบสถิติหนุน ผปก.เข้าถึงสินเชื่อสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ วางเป้าปี 59 ยอดค้ำไม่น้อยกว่าเดิม พร้อมสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล และสานต่ออุ้มรายย่อย

นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ บสย. ในปีนี้ (2558) ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ทั้งด้านยอดค้ำประกันและจำนวนราย โดย มียอดค้ำประกันสินเชื่อ (ม.ค. - 27 พ.ย. 58) รวม 86,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติค้ำประกัน 65,000 ราย และเชื่อถึงสิ้นปีนี้จะมียอดค้ำประกันสินเชื่อถึง 100,000 ล้านบาท และ อนุมัติการค้ำประกัน กว่า 70,000 ราย ผ่านโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่

โครงการค้ำประกัน PGS5 ปรับปรุงใหม่ ที่เริ่มเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการต่อเนื่อง 4 ปี สูงสุด 4% วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ณ วันที่ 27 พ.ย. 58 มียอดค้ำประกัน รวม 28,000 ล้านบาท และอนุมัติการค้ำประกัน จำนวน 6,700 ราย

โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ( Micro Entrepreneurs) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบในแง่จำนวนรายมากที่สุด คือ 41,000 ราย โดยอนุมัติวงเงินค้ำประกันแล้ว 4,200 ล้านบาท โครงการนี้จะสิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2558 คาดว่าวงเงินจะหมดภายในสิ้นปี 2558

และโครงการค้ำประกัน TCG Renew ซึ่งเป็นการค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องให้กับลูกค้าเดิมของ บสย. โดยมีวงเงินค้ำในปีนี้ 7,300 ล้านบาท อนุมัติการค้ำประกัน จำนวน 2,100 ราย

“จากตัวเลขการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้แก่เอสเอ็มอี ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ บ่งบอกได้ว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีไทยต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยประคองธุรกิจในสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเชื่อว่า ในปีหน้า (2559) รัฐบาลยังคงออกมาตรการให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บสย.จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ” นายญาณศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ บสย. ยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เช่น กิจกรรมจัดอบรม ให้ความรู้แก่ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนร่วมกับ “ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ” (UBI) ของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมคลินิกค้ำประกันสินเชื่อ มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระหว่างเดือน มกราคม – ตุลาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 125 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 23,115 ราย และยังมีการเพิ่มบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ “คลินิกค้ำประกันสินเชื่อออนไลน์” แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านเว็บไซต์ www.tcg.or.th

นายญาณศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานและทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 บสย. ได้วาง 4 แนวทางหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายยอดค้ำประกันสินเชื่อ ประมาณ 100,000 ล้านบาท คือ

ช่วยผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพและกลุ่มอาหารแห่งอนาคต หรือการแปรรูปอาหาร กลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิตอล

อีกทั้ง สานต่อการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Entrepreneurs) เสนอคลังพิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs ระยะ 2 ต่อจากโครงการแรกที่สามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก

อีกทั้ง กำลังเสนอแก้กฎหมาย ระเบียบของ บสย. เพื่อขยายช่องทางการค้ำประกันสินเชื่อไปยังผู้ให้บริการสินเชื่อในกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น