“สมคิด” ชู “มหาวิทยาลัย” ความหวังปั้นผู้ประกอบการนวัตกรรมหน้าใหม่ด้วยงานวิจัย ให้เวลาปีครึ่งดันให้ถึงฝั่ง แนะใช้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (23 พ.ย.) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (อคพน.) เป็นนัดแรก โดยได้เชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 5 กระทรวง อธิการบดี 5 มหาวิทยาลัย สสว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหาอการค้าแห่งประเทศไทย สภาวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประชุมครั้งนี้ ดร.สมคิด ได้สะท้อนถึงบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการ อินโนเวทีฟ สตาร์ทอัพ หรือ การสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมหน้าใหม่ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจพันธุ์แกร่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอินโนเวทีฟ สตาร์ทอัพต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการใช้ความสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิด ย้ำว่า การจะมุ่งเป้าให้ประสบความสำเร็จนั้น หน่วยงานที่จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน คือ มหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยมากมายรอการต่อยอด แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่ได้โฟกัสตัวเองว่าจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านไหน สุดท้ายกลายเป็นทำวิจัยแข่งกันเอง
“จากนี้ไปขอให้รวมตัวกันหารือและแบ่งงานในการเป็นตัวแทนของภูมิภาค เพื่อวิจัยตอบโจทย์ท้องถิ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า ผลผลิตชุมชนส่วนใหญ่งานวิจัยเข้าไปไม่ค่อยถึงต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการสนับสนุนเข้าถึงในระดับรากหญ้า โดยการหารือควรมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณเข้าร่วมรับฟังด้วย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ ดร.สมคิด ยังได้นำเสนอแนวทางในการก้าวสู่ความสำเร็จของโครงการ ว่า อินโนเวทีฟ สตาร์ทอัพ ต้องมีการออกแบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของกองทุนพัฒนาความสามารถ โอกาสในการเข้าตลาดหุ้น รวมถึงการเชื่อมโยงบูรณาการผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมองว่าองคาพยพในการสนับสนุนขณะนี้มีความพร้อม แต่อาจจะขาดการจัดการแบบเชื่อมโยง จึงขอให้ทุกคน ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาภายในปีครึ่ง ทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยขอให้ทบทวนมาตรการและแรงจูงใจที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้นักลงทุนสนใจ หากจะสามารถปรับปรุงก็ให้เร่งดำเนินการ
ทั้งนี้ เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น อธิการบดี และผู้แทน จาก 5 มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนปัญหาที่ใกล้เคียงกัน คือ แต่ละมหาวิทยาลัยมีการวิจัยและสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพมาหลายปีแล้ว โดยใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยเอง แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นของการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ก็จะติดขัดในเรื่องของงบประมาณและการสนับสนุนของภาคการเงิน ทำให้ไปต่อไม่ได้ สอดคล้องกับสภาวิจัยฯ สภาอุตสาหกรรมที่ให้ความเห็นในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รู้สึกมีความหวังกับโครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผลักดันคือกองทุนพัฒนานวัตกรรม
รวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเองก็ได้ทำงานกับบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายแห่งอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากที่มหาวิทยาลัยจะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด ซึ่ง ดร.สมคิด ได้แนะนำว่า ให้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยขอให้เขารวบรวมรายชื่อเอสเอ็มอีที่มีอยู่ และหารือร่วมกันเพื่อหาช่องทางในความร่วมมือ และรวบรวมความต้องการในเรื่องสิทธิประโยชน์ และมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนต่อไป
นอกจากนี้ ดร.สมคิด ยังได้ให้แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยขอให้ทุกหน่วยงาน ยึดความสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 10 สาขาหลัก ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของประเทศไทยในขณะนี้ คือ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิตอล และ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยทั้ง 10 สาขานั้นจะตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง