xs
xsm
sm
md
lg

นาโนตรวจกลิ่นเหม็นผลงานไทยใช้จริงที่โตโยต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรุ่งโรจน์ เมาลานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบอุปกรณ์นาโน หน่วยวิจัยวัสดุนาโนและวิศวกรรมระบบนาโน นาโนเทค
นาโนเทคจับมือโตโยต้าขยายผลการใช้เทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาด ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม เปิดตัวนวัตกรรมเซนเซอร์รับกลิ่น-คาร์บอนบำบัดมลพิษ นวัตกรรมผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยร่วม พร้อมชวนปั่นจักรยานเพื่ออากาศสีเขียวรอบเกตเวย์ซิตี้ ฉะเชิงเทรา เสาร์ที่ 14 พ.ย.นี้

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเปิดตัวงานวิจัยร่วมในการพัฒนาระบบรับกลิ่นที่มีเซนเซอร์ตรวจจับกลิ่นสำหรับตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย และงานวิจัยวัสดุบำบัดมลพิษโดยใช้คาร์บอนนาโนคอมโพสิทที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เล่าถึงปัญหาว่าโตโยต้าดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทุกประการ แต่ก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่ต้องการงานวิจัยดีๆ เข้ามาช่วย ทั้งการทำอย่างไรไม่ให้มดเข้ามาในวงจรแผงอิเล็กทรอนิกส์, การป้องกันไม่ให้นกบินเข้ามาในโรงงาน และที่สำคัญที่สุดคือปัญหากลิ่นที่ถูกปล่อยจากโรงงาน

"แม้กลิ่นที่ปล่อยออกไปจะได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัยและไม่มีอันตรายเกินค่ามาตรฐาน แต่ชาวบ้านก็ยังคงร้องเรียนว่ามีกลิ่นเหม็นทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตอยู่ดี เป็นปัญหาที่โตโยต้าพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของโตโยต้า กับนักวิจัยนาโนเทคในการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งหลักๆ ที่นำมาใช้แล้วจะเป็นชุดเซนเซอร์ตรวจจับก๊าซ และที่กำลังอยู่ในขั้นวิจัยคือวัสดุนาโนดูดซับสารพิษ" นายนินนาทกล่าว

ด้าน นายรุ่งโรจน์ เมาลานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบอุปกรณ์นาโน หน่วยวิจัยวัสดุนาโนและวิศวกรรมระบบนาโน นาโนเทค กล่าวว่าจากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยตรวจวัดก๊าซของนาโนเทคที่มีอยู่แล้ว โดยนาโนเทคและโตโยต้าได้ร่วมกันวิจัยต่อยอดจากเครื่องตรวจที่ระบุได้แค่ชนิดของก๊าซ เป็นระบบที่ระบุได้ว่าก๊าซดังกล่าวจะเดินทางไปในทิศใดและใช้เวลาเดินทางเท่าไร ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนบำบัดรับมือ โดยเฉพาะการตรวจจับการรั่วไหลของสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นสารพิษก่อมะเร็ง โดยดำเนินการสำเร็จแล้วมาตั้งแต่ประมาณ 1-2 ปีก่อน

นายรุ่งโรจน์เผยด้วยว่าปัจจุบันโตโยต้าได้ส่งนักวิจัยเข้ามาทำงานร่วมกับนักวิจัยนาโนเทค เพื่อวิจัยโครงสร้างซิลเวอร์นาโน เพื่อประยุกต์ใช้สำหรับอุตสาหกรรมแยกก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ให้มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับเซนเซอร์ตรวจจับที่ต้องสั่งนำเข้าจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีราคาแพง ซึ่งขณะนี้ประสบประสบความสำเร็จสามารถผลิตเซนเซอร์ที่มีคุณภาพดีและมีราคาถูกกว่าถึง 70% แต่ยังมีอายุการใช้งานสั้น ซึ่งนักวิจัยเผยว่าเป็นโจทย์ต่อไปที่ต้องแก้ไขปรับปรุง

นายรุ่งโรจน์อธิบายเพิ่มเติมว่าเซนเซอร์จับแก๊สสำหรับโตโยต้าเป็นโครงการต่อยอดจากนาโนเทค ทำมาแล้วร่วมกันประมาณ 2-3 ปีโดยโตโยต้าจะให้ทั้งงบสนับสนุนและส่งนักวิจัยมาเข้าร่วม พอสำเร็จก็ติดตั้งเครื่องไปเป็นรุ่นๆ ทั้งในโรงงานและชุมชน และนักวิจัยก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วย จนตอนนี้เป็นเซนเซอร์รุ่นที่ 5 แล้ว โดยรุ่นล่าสุดตรวจจับพวกสารอินทรีย์ระเหยได้หยาบสุดตั้งแต่ 100 ppm และละเอียดสุดที่ 10 ppb โดยจะมุ่งไปที่การสร้างเซนเซอร์หลัก 2 ตัวในกลุ่มเมทิลออกไซด์อย่างทังเสเตน และโลหะออกไซด์กับไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งก๊าซหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรม

การตรวจจับก๊าซพิษอย่างเดียวคงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครอบคลุม จึงต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณสมบัติวัสดุดูดซับสารพิษด้วย ซึ่ง นางสาว ชมพูนุช รุ่งนิ่ม นักวิจัยในโครงการเรือธงเพื่อนวัตกรรมอากาศสะอาด นาโนเทค เผยว่า งานวิจัยของเธอเป็นการพัฒนาวัสดุนาโนคอมโพสิทคาร์บอนให้มีคุณสมบัติในการตรวจจับสารอินทรีย์ระเหยง่าย และโลหะหนักจำพวกปรอทและเงินให้ดีขึ้นโดยการผสมตัวเติม จากการวิเคราะห์และประมวลผลเบื้องต้นจากเทคนิคแบบจำลองโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้การสัมผัสและดูดซับกันระหว่างวัตถุ 2 ชนิดมีประสิทธิภาพดีขึ้น

"ตามโรงงานพ่นสีหรือประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนใหญ่จะต้องมีการตกค้างของโลหะหนัก และสารเคมีระเหยง่ายอยู่แล้ว ซึ่งปกติทุกโรงงานก็จะมีกระบวนการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม แต่เพื่อให้กระบวนการกำจัดดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด เราจึงต้องพัฒนาวัสดุดูดซับให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นไปอีก เพื่อใช้ในส่วนปล่องหรือระบบควบคุมการเผาไหม้เพื่อดูดจับก๊าซที่เป็นอันตรายให้หมดจดก่อนถูกปล่อยออกจากโรงงาน คาดว่าอีกไม่นานจะประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรม" นักวิจัยกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการนาโนเทค เผยว่า ปกติงานวิจัยของนาโนเทคจะทำตามความสนใจของนักวิจัย แต่เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานาโนเทคได้จัดกลุ่มวิจัยใหม่ให้เป็นไปตามแผนเรือธงที่มุ่งเน้นไปสู่การใช้งาน ซึ่ง "นวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาด" ถือเป็นเรือธงหนึ่งที่นักวิจัยหลายคนให้ความสนใจ โดยแบ่งออกเป็นการวิจัยเพื่อตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อการวางแผนการจัดการ และการหาเทคโนโลยีนาโนที่เกี่ยวข้องกับการดูดซับและกำจัด เพื่อรับมือกับการปนเปื้อนหรือรั่วไหลของสารเคมี

"จากนวัตกรรมตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงในวันนี้เป็นการแสดงออกถึงความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งงานวิจัย เพราะนอกจากนักวิจัยจะพัฒนาเทคโนโลยีสำเร็จแล้ว ยังมีเอกชนเข้ามารับช่วงต่อไปใช้ในอุตสาหกรรม โดยเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นที่พัฒนาขึ้นมาหลายๆ รุ่น ได้ทยอยนำไปทดลองในโรงงานของโตโยต้าถึง 3 แห่ง รวมมเป็นจำนวน 28 เครื่อง" ผู้อำนวยการนาโนเทคระบุ

เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้นำไปใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการส่งเสริมรักษาสภาพแวดล้อม นาโนเทค โตโยต้าและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “CLEANAIR for GREENTOWN” ที่เชิญชวนนักปั่นจักรยานมาร่วมโครงการปั่นจักรยานเพื่ออากาศสะอาด สู่เมืองสีเขียว ในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย. นี้ ณ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ และชุมชนโดยรอบ ณ ตำบลหัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง 28 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะมีนักปั่นเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
หัววัดเซนเซอร์ที่พัฒนาด้วยนักวิจัยนาโนเทค มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศแต่มีราคาถูกกว่า
(ขวาสุด) นางสาว ชมพูนุช รุ่งนิ่ม นักวิจัยในโครงการเรือธงเพื่อนวัตกรรมอากาศสะอาด นาโนเทค
นักวิจัยนาโนเทคใช้เทคนิค computer simulator เพื่อวิเคราะห์ดูโครงสร้างระหว่างวัสดุนาโน ไทเทเนียมไดออกไซด์และเงิน เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาวัสดุคาร์บอนให้มีการเกาะยึดกันได้ดีขึ้น
(จากซ้ายไปขวา) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล, ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำคณะขี่จักรยานรอบกระทรวงศ เพื่อเชิญชวนให้ไปร่วมงานปั่นจักรยานในวันที่ 14 พ.ย.








กำลังโหลดความคิดเห็น