\\\\\\\\\\\\\ "วัวแดงที่ห้วยขาแข้ง" ปฐมบทของคอลัมน์ใหม่ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" โดย "ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ" ว่าที่ด็อกเตอร์ด้านชีววิทยา ผู้ช่ำชองในเรื่องป่า ////////////
เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ครั้งที่ตัวผมเองยังเป็นเพียงนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ตามหลักสูตรของการร่ำเรียนทำให้ผมกับเพื่อนได้มีโอกาสอันดีที่ได้ไปฝึกงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
>ต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปเป็นเหมือนกับฝันที่เป็นจริงและได้เติมเต็มสิ่งที่อยากจะทำตั้งแต่สมัยที่เริ่มเรียนใหม่ๆ ที่ผมจะได้สัมผัสกับผืนป่าอันนับได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และไม่ใช่เพียงแค่เป็นนักท่องเที่ยวผ่านทางอย่างเช่นที่ผ่านมา
การฝึกงานในครั้งนั้น ผมได้รับมอบหมายให้ช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กในกลุ่มชะมดและอีเห็นที่มาใช้ประโยชน์จากถนน ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรในบริเวณป่าเต็งรัง การเก็บข้อมูลเป็นการบันทึกร่องรอยที่พบเห็น เช่น รอยตีน ขนาดของรอยตีน กองมูลและเมล็ดพืชในกองมูล เป็นต้น ข้อมูลที่บันทึกทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ป่ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากทีเดียว นอกจากร่องรอยของชะมดและอีเห็นแล้วสิ่งที่โดดเด่นก็คือร่องรอยสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย เช่น เม่น เก้ง กวาง วัวแดง หมาจิ้งจอก หรือแม้กระทั่งเสือดาวอันเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในพื้นที่ ตลอดช่วงระยะเวลาของการฝึกงานกว่าสองอาทิตย์ เจ้าของร่องรอยต่างๆ ได้ปรากฏตัวให้พบเห็น บางชนิดพบบ่อยครั้ง บางชนิดพบเห็นเพียงแค่ครั้งเดียว ถ้าไม่ได้พบเห็นระยะใกล้ก็ในระยะที่พอจะเห็นตัวกันอยู่ไกลๆ แต่มันก็เพียงพอที่จะสร้างความตื่นเต้นและดีใจในการที่ได้พบเห็นสัตว์ป่าในพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติให้กับผมยิ่งนัก
ในบรรดาเจ้าของร่องรอยต่างๆ เหล่านั้น มีเพียงหนึ่งชนิดที่ผมไม่มีโอกาสได้พบเห็นตัวด้วยสายตาของผมเลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นก็คือ “วัวแดง” ทั้งๆ ที่ร่องรอยก็มีปรากฏให้เห็นอย่างมากมายในบริเวณป่าเต็งรังและทุกวันที่ออกไปช่วยรุ่นพี่ที่สถานีวิจัยเก็บข้อมูลผมก็พยายามมองหาพวกมันแต่ก็ไม่พบ
จนกระทั่งวันเวลาแห่งการฝึกงานได้ผ่านล่วงเลยไปและสิ้นสุดลง ในเช้าของวันที่ผมและเพื่อนเดินทางกลับ ระหว่างทางพาหนะที่ใช้ในการเดินทางของเราได้หยุดลงอย่างกระทันหันพร้อมกับเสียงของรุ่นพี่ที่เรียกให้มองไปยังถนนเบื้องหน้า ตรงนั้นริมป่าโปร่งด้านซ้ายของถนน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมประเภทสัตว์กีบขนาดใหญ่ตัวหนึ่งกำลังเยื้องย่างอย่างแช่มช้า ขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดงกลมกลืนกับสีของพื้นถนนลูกรังและผิวดินของป่าเต็งรังตัดกับสีขาวอันโดดเด่นสะดุดตาของขนที่ปกคลุมขาทั้งสี่ข้าง
“วัวแดง” ในที่สุดก็ได้พบกัน
จากหนึ่งตัวที่เดินผ่านออกมาจากป่าริมข้างทางเพิ่มเป็นสองตัว สามตัวและมากขึ้นเรื่อยๆ พวกมันไม่มีท่าทางจะตระหนกตกใจกับเสียงเครื่องยนต์เลยแม้แต่น้อย ผมจึงตัดสินใจที่จะลงจากรถเพื่อการหามุมที่จะถ่ายรูป นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดทีเดียว เสียงเปิดประตูทำให้วัวแดงตัวหนึ่งตกใจและเริ่มออกวิ่ง จากนั้นทุกตัวจึงเริ่มออกวิ่ง กล้องถ่ายรูปที่อยู่ในมือของผมไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเพราะผมทำได้แต่เพียงแค่ยืนมองด้วยความรู้สึกตะลึงงันกับภาพที่เห็นเท่านั้น ภาพวัวแดงฝูงใหญ่วิ่งข้ามถนนที่ทอดยาวออกไป ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเช้าที่ส่องทะลุผ่านม่านฝุ่นสะท้อนกับเส้นขนสีน้ำตาลแดงและเขาเป็นมันวาว พร้อมกับเสียงกีบจำนวนมากที่กระแทกลงกับผืนดินแข็งๆ และบั้นท้ายสีขาวที่ลับหายไปยังป่าอีกฝั่งหนึ่ง
เมื่อเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปเหลือแต่เพียงควันจากฝุ่นดินกลุ่มใหญ่ เราจึงตัดสินใจเดินทางกันต่อ ความรู้สึกอิ่มเอมอย่างล้นปรี่เกิดขึ้นอยู่ในใจของผม มันช่างเป็นการกล่าวคำอำลาจากกันที่ติดตราตรึงใจจนกระทั่งทุกวันนี้
วันเวลาผ่านล่วงเลยมาจนกระทั่งเมื่อปีก่อน ผมได้รับโอกาสดีดีอีกครั้งที่ได้ไปมีส่วนร่วมในการฝึกงานของรุ่นน้องสถาบันเดียวกัน ที่พวกเรามักเรียกกันอย่างติดปากว่า “การฝึกงานสัตว์ป่า” การเข้าร่วมการฝึกงานเป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมได้กลับมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ แต่ด้วยวัยที่มากขึ้นและสังขารที่เริ่มจะโรยรา ผมเปลี่ยนวิธีการจากการเดินสำรวจมาเป็นการนั่งซุ่มที่หอดูสัตว์และก็ไม่ผิดหวัง จากการนั่งเฝ้าเพียงไม่นานวัวแดงฝูงหนึ่งเยื้องย่างออกมาจากป่าเต็งรังฝั่งตรงข้ามเดินเข้ามากินน้ำที่ลำห้วยใกล้หอดูสัตว์
สำหรับตัวผมการพบกันในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างลิบลับ สิ่งนี้อาจจะเนื่องมาจากการที่วัวแดงบริเวณนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง หลังจากที่วัวแดงฝูงนี้กินน้ำเป็นที่พอใจแล้วพวกมันก็เดินเล็มหญ้าเรียงหน้ากระดานดูพร้อมเพรียงอย่างที่ปรากฏในรูปอย่างสบายใจไม่มีทีท่าหรืออาการหวาดกลัวใดใดเลย กล้องถ่ายรูปผมจึงได้ทำหน้าที่ของมันอย่างหนักหน่วง เสียงม่านชัตเตอร์ดังขึ้นเพื่อบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องแต่พวกมันก็เหมือนจะไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้เลย มีบ้างที่บางตัวเงยหน้าขึ้นมาแหงนมองแต่จากนั้นมันก็ก้มหน้าก้มตาเล็มหญ้าต่อไป ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ต่ำลงเรื่อยๆ
ผมเปลี่ยนจากการมองผ่านเลนส์เป็นการมองดูพวกมันเฉยๆ ผมจึงได้ทราบว่ามีสิ่งที่ผมพลาดไปไม่ได้พิจารณาให้ถ้วนถี่ตั้งแต่แรกอันเนื่องจากความตื่นเต้นและความที่อยากจะได้รูปถ่ายพวกมัน นั่นคือวัวแดงฝูงนี้มีสมาชิกทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีทั้งตัวเต็มวัยและที่ไม่เต็มวัยรวมกันอยู่ในฝูง นอกจากนั้นยังมีลูกตัวน้อยๆ ที่หากินและวิ่งเล่นใกล้ๆ กับตัวเมียที่น่าจะเป็นแม่ของมันอีกด้วย ความปลื้มปิติเกิดขึ้นในใจของผมอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เป็นความยินดีที่ได้รับรู้ว่าพวกมันมีการทดแทนกันของประชากรอันเป็นหัวใจของการสืบต่อดำรงเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น เป็นความยินดีที่ได้รับรู้ว่าในอนาคตจะยังคงมีวัวแดงทำหน้าที่ของมันในระบบนิเวศและโลดแล่นแต่งแต้มสีสันให้ผืนป่าห้วยขาแข้งอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ต่อไป
เมื่อดวงอาทิตย์ลาลับไปบนยอดไม้ สิ่งรอบตัวดูเลือนลางไปทุกที ได้เวลาเดินทางกลับที่พักแล้ว ผมจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆลงกระเป๋าและมองไปยังฝูงวัวแดงนั้นอีกครั้ง บางตัวยังคงเดินเล็มหญ้า บางตัวนอนเคี้ยวเอื้องอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ วัวน้อยยังคงวิ่งเล่น ผมสะพายกระเป๋า เก็บขาตั้งกล้อง หันหลังให้พวกมันและเดินจากมาอย่างเงียบๆ พร้อมกับเสียงล่ำลาที่ดังอยู่ภายในใจ
“ลาก่อน จนกว่าเราจะพบกันอีกครั้ง สหายไพร”...
เกี่ยวกับผู้เขียน
ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน